ตรุษจีนนี้ ไวล์ดเอดขอคนรุ่นใหม่ชวนครอบครัว #ฉลองไม่ฉลาม หลังงานวิจัยพบหูฉลามที่ขายในไทยกว่า 60% มาจากฉลามเสี่ยงสูญพันธุ์

05 Feb 2024

องค์กรไวล์ดเอด ขอชวนทุกคนเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน เริ่มต้นปีมังกรทองด้วยการ #ฉลองไม่ฉลาม ลด ละ เลิกบริโภคเมนูที่ทำจากฉลาม โดยเฉพาะซุปหูฉลาม หลังผลการศึกษาดีเอ็นเอจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายในไทยพบ ชนิดพันธุ์ฉลามส่วนใหญ่ (62%) มีสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์

ตรุษจีนนี้ ไวล์ดเอดขอคนรุ่นใหม่ชวนครอบครัว #ฉลองไม่ฉลาม หลังงานวิจัยพบหูฉลามที่ขายในไทยกว่า 60% มาจากฉลามเสี่ยงสูญพันธุ์

ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามของคนไทยที่อาศัยในเขตเมืองทั่วประเทศไทยจำนวน 1,007 คน พ.ศ. 2566 โดยองค์กรไวล์ดเอดและบริษัทวิจัยแรพพิด เอเชีย (Rapid Asia) พบว่า คนไทยในเขตเมืองบริโภคหูฉลามบ่อยที่สุดในร้านอาหารกับครอบครัว (60%) ตามด้วยงานแต่งงาน (57%) สังสรรค์กับเพื่อนในร้านอาหาร (46%) และงานรวมญาติในช่วงเทศกาลตรุษจีน (42%) ไวล์ดเอดจึงขอชวนทุกคนชวนสมาชิกในครอบครัวเลิกสั่ง เลิกสังสรรค์ด้วยเมนูจากฉลามทุกชนิดตั้งแต่ตรุษจีนนี้และตลอดไป

ผลสำรวจล่าสุดพบว่า การบริโภคหูฉลามของคนไทยในเขตเมืองมีแนวโน้มลดลงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยผู้บริโภคที่ยังกินหูฉลามในรอบ 12 เดือน มีจำนวนลดลง 27.5% เมื่อเทียบกับการสำรวจในพ.ศ. 2560 นอกจากนี้คนไทยที่บริโภคหูฉลามเป็นครั้งคราวตั้งแต่ 2-5 ครั้งต่อปี มีจำนวนลดลง 47% ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า การรณรงค์มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคฉุกคิดถึงผลกระทบของการบริโภคฉลามมากยิ่งขึ้น ถึงแม้การบริโภคมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ยังมีคนไทยมากกว่าครึ่ง (56%) ที่ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต บ่งชี้ว่า ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคหูฉลามที่สำคัญ

องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) ร่วมกับทีมนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรมประมง และนักวิจัยอิสระ เผยผลการศึกษาที่ระบุชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามจากแหล่งค้าในหลายจังหวัดครั้งแรกในประเทศไทย และได้รับการ เผยแพร่ใน วารสาร Conservation Genetics พบฉลามอย่างน้อย 15 ชนิดพันธุ์ ซึ่งชนิดพันธุ์ฉลามส่วนใหญ่ (62%) มีสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List

"ผลวิจัยสะท้อนชัดเจนว่าซุปหูฉลามที่ถูกเสิร์ฟนั้นอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ แถมอาจจะเป็นฉลามที่ยังไม่สมบูรณ์พันธุ์อีกด้วย ถ้าให้เปรียบก็เหมือนกับเรากำลังกินเสือหรือแม้แต่ลูกเสือที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของป่า การบริโภคของเราทุกคนจึงมีส่วนกำหนดชะตากรรมของฉลามหลายชนิดและย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงความสมดุลของท้องทะเลในที่สุด เทศกาลตรุษจีนจึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคนจะเชิญชวนครอบครัวมาสังสรรค์กันโดยไม่ต้องมีเมนูฉลามทุกรูปแบบ" ดร. เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ที่ปรึกษาองค์กรไวล์ดเอด และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าว

"การพบชนิดพันธุ์ฉลามที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ไปจนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายอยู่ในไทย สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากฉลาม โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่ต้องการการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน และการพบชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพถูกคุกคาม ตาม IUCN Red List ในครีบขนาดเล็ก ทำให้ต้องมีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากฉลามที่ยังไม่สมบูรณ์พันธุ์ต่อไป เนื่องจากปลาฉลามที่ยังไม่สมบูรณ์พันธุ์จะเป็นกลุ่มประชากรที่สำคัญในการฟื้นตัวของประชากรปลาฉลามในอนาคต" ผศ.ดร.วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ ผู้วิจัยและอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. กล่าว

ปัจจุบัน1 ใน 3 ของชนิดพันธุ์ปลาฉลามและกระเบน ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการทำประมงมากเกินขนาด เพราะความต้องการนำทุกชิ้นส่วนไปบริโภค สอดคล้องกับการลดลงของประชากรฉลามในหลายส่วนทั่วโลก นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังพบว่า ร้อยละ 34 ของชนิดพันธุ์ปลาฉลามที่พบในตัวอย่างครีบไม่เคยปรากฏพบในน่านน้ำไทย บ่งชี้ว่า ตลาดค้าหูฉลามในประเทศไทยต้องพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบจากต่างประเทศ เป็นศูนย์กลางการนำเข้าผลิตภัณฑ์ครีบฉลามมาจากหลายแหล่ง เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในประเทศและเพื่อส่งออกอีกครั้ง 

"ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ช่วยยืนยันว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในผู้เล่นสำคัญในการนำเข้าและส่งออกหูฉลามในภูมิภาค สอดคล้องกับรายงานฉบับอื่นที่พูดถึงบทบาทการกระจายผลิตภัณฑ์หูฉลามของไทยในท้องตลาดในระดับสากล  ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการจับฉลามมาตัดครีบเป็น ๆ ก่อนทิ้งร่างกายที่เหลือลงทะเลจะลดน้อยลงมากแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหูฉลามจำนวนมากมาจากฉลามที่ถูกจับจากเครื่องมือประมงทั่วไป แต่ก็ปฏิเสธได้ยากถึงบทบาทของอุตสาหกรรมหูฉลามที่ส่งผลต่อประชากรปลาฉลามหลายชนิดที่ถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อการสูญพันธ์และกระทบโครงสร้างประชากรปลาฉลามไปแล้วหลายชนิดในอดีตรอบโลก" นายศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสื่อมวลชน นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และทีมนักวิจัย กล่าว

"กรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (NPOA-Sharks) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์ฉลาม ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลฉลามจากการส่งออกและนำเข้า และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฉลาม กรมประมงยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับมาตรการเพื่อควบคุมติดตามและตรวจสอบการค้าฉลามชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีของอนุสัญญาไซเตสเพื่อการใช้ประโยชน์จากฉลามอย่างยั่งยืนต่อไป" นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าว

องค์กรไวล์ดเอดเตรียมดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการบริโภคเมนูฉลามที่มีต่อระบบนิเวศในท้องทะเล โดยอ้างอิงจากผลวิจัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และจะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (NPOA-Sharks) สร้างการมีส่วนร่วมและผลักดันการอนุรักษ์ฉลามอย่างยั่งยืนต่อไป