คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร ไฟเขียว 5 ร่างมาตรฐาน "ลำไย-ปาล์มน้ำมัน-ข้าวโพดหมัก-กุ้งทะเล" ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถการส่งออก
วันนี้ (21 ธ.ค.66) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 3/2566 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานการออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ 9 เรื่อง ภายใต้ พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 (ข้อมูล ณ วันที่1 พฤศจิกายน 2566) รวมทั้งสิ้น 4,532 ราย และความคืบหน้าของการดำเนินการเกี่ยวกับความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน (ASEAN Food Safety Regulatory Framework Agreement; AFSRF Agreement) ปัจจุบันมี 8 ประเทศได้ลงนามแล้วเมื่อเดือน ส.ค. 2566 และจะเร่งให้ครบทั้ง 10 ประเทศโดยเร็ว ทั้งนี้ AFSRF Agreement จะมีผลบังคับใช้เมื่อได้รับสัตยาบันสารจากประเทศสมาชิกครบทั้ง 10 ประเทศ จากนั้นจะมีการจัดตั้งคณะ AFSCC เพื่อดำเนินงานต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ลำไย (ทบทวน) 2.หลักการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (ทบทวน) 3.หลักการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนสำหรับเกษตรกรรายย่อยอิสระ 4.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดหมัก และ 5.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล (ทบทวน) ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป
ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ( มกอช.)กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 5 เรื่อง ได้แก่
1.ลำไย (ทบทวน) ปี 2546 มกอช. ได้ประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ลำไย เป็นมาตรฐานของประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์การผลิตและการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องกับการปฏิบัติและเกณฑ์กำหนดทางการค้าในปัจจุบันของประเทศผู้นำเข้า เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับผู้ที่จะนำมาตรฐานไปใช้ส่งเสริมการผลิตลำไยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกให้สูงขึ้น
2.หลักการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (ทบทวน) เนื่องจากองค์กร Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ประกาศใช้มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน เพื่อใช้รับรองระบบการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรฐานสินค้ำเกษตร เรื่อง หลักกำรผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (มกษ. 5909-2563) ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2563 เมื่อมาตรฐาน RSPO ได้มีกำรปรับปรุงแก้ไขเป็นฉบับใหม่ มกอช. จึงเห็นควรให้ทบทวนมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน และเพิ่มเติมการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนสำหรับเกษตรกรรายย่อยอิสระ ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน RSPO เพื่อยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก
3.หลักการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนสำหรับเกษตรกรรายย่อยอิสระ เป็นการดำเนินการให้ครอบคลุมหลักการ เกณฑ์กำหนด และตัวชี้วัด สำหรับการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรรายย่อยอิสระที่มีพื้นที่ปลูกน้อยกว่า 312.5 ไร่ เพื่อให้การจัดการของกลุ่มและเกษตรกรมีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
4.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดหมัก มาตรฐานนี้ ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวโพดเพื่อหมักเป็นอาหารสัตว์ ตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการวางแผนการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง มีคุณภาพปลอดภัยและเหมาะสมต่อการนำไปผลิตข้าวโพดหมักเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ ในการใช้ทดแทนหญ้าสดและอาหารหยาบในบางฤดูที่ขาดแคลน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน แต่ไม่ครอบคลุม ข้าวโพดที่เป็นผลพลอยได้จากข้าวโพดหวานหลังเก็บฝัก ข้าวโพดฝักอ่อนหลังเก็บฝักอ่อน และข้าวโพดอื่นๆ ที่ไม่ได้ปลูกเพื่อผลิตเป็นข้าวโพดหมัก
และ 5.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล (ทบทวน) ได้มีการเพิ่มเติมข้อกำหนดการจัดทำและดำเนินการตามแผนการจัดการสุขภาพกุ้ง การห้ามใช้ยาต้านจุลชีพในการป้องกันโรคและเร่งการเจริญเติบโต รวมถึงเพิ่มเติมแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสำหรับข้อกำหนดในแต่ละข้อให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถนำมาตรฐานไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เพิ่มเติมรายการยาสัตว์และสารเคมีที่ห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล รายชื่อกฎหมายของประเทศเกี่ยวกับสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ วิธีการป้องกันสัตว์พาหะนำโรคและสัตว์อื่นเข้ามาในฟาร์ม วิธีป้องกันการหลุดรอดของกุ้งที่เลี้ยง