มือขวาของคุณคือใคร เมื่อเริ่มคิดมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

18 Jul 2023

เมื่อนายจ้างและลูกจ้างตกลงที่จะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นสวัสดิการทรงพลังให้แก่ลูกจ้าง เพื่อเป็นแหล่งเงินก้อนสำหรับการใช้จ่ายยามเกษียณ นายจ้างอาจเริ่มค้นหาว่ามือขวาหรือบริษัทจัดการที่จะมาช่วยจัดตั้งและบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้สำเร็จอย่างราบรื่นควรเป็นใคร โดยอาจเริ่มต้นจาก

มือขวาของคุณคือใคร เมื่อเริ่มคิดมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  1. การสอบถามผู้มีประสบการณ์ตรงที่เป็นนายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วในปัจจุบัน ให้แนะนำบริษัทจัดการที่ใช้บริการอยู่
  2. การสอบถามธนาคารที่นายจ้างทำธุรกรรมร่วมด้วย ให้แนะนำบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในเครือ
  3. การติดต่อตรง โดยดูจากรายชื่อบริษัทจัดการ 17 ราย ที่ประกอบด้วยทั้ง บลจ. และบริษัทประกัน (ตามภาพ)

แต่ไม่ว่าจะเริ่มหาด้วยวิธีใด ผู้ที่จะเข้ามาเป็นมือขวาของคุณ จะต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณสามารถติดต่อและเชิญบริษัทจัดการมากกว่า 1 รายเข้ามาพูดคุยนำเสนอผลงานและบริการ เพื่อเปรียบเทียบและคัดเลือกมือขวาที่เคมีเข้ากับสไตล์ของบริษัทคุณที่สุด ซึ่งอาจพิจารณาได้จากหลากหลายแง่มุม อาทิ

  1. ค่าบริการและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดตั้งกองทุน (initial fee) ค่าผู้สอบบัญชี (auditor fee) และค่าทะเบียนสมาชิก (registrar fee) เป็นต้น
  2. จำนวนนโยบายการลงทุนที่ให้เลือก เช่น ครอบคลุมนโยบายระดับความเสี่ยงสูงกลางต่ำ และครอบคลุมหลากหลายสินทรัพย์ และนโยบายสมดุลตามอายุ (target date) เป็นต้น รวมถึงดูผลการดำเนินงาน (performance) นโยบายการลงทุนในอดีตประกอบการพิจารณาด้วย อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจว่าผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต
  3. การบริการก่อนและหลังการขาย เช่น การให้คำแนะนำการเตรียมเอกสารและหลักฐานการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การให้ความรู้ปูพื้นฐานให้แก่ลูกจ้างเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การเดินสายพบปะสมาชิกตามภูมิภาค (กรณีนายจ้างมีสำนักงานตามภูมิภาค) เป็นต้น
  4. จำนวนครั้งที่สามารถเปลี่ยนนโยบายการลงทุนใน 1 ปี เช่น เปลี่ยนได้ปีละ 1 ครั้ง หรือปีละ 4 ครั้ง หรือไม่จำกัดจำนวน เป็นต้น
  5. ระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่รองรับการให้บริการ เช่น ระบบการโอนเงินและส่งข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังบริษัทจัดการ ระบบ call center รวมถึง website และ application สำหรับสมาชิกดูข้อมูลการลงทุนของตน เป็นต้น

เนื่องจากปัจจัยที่ใช้คัดเลือกบริษัทจัดการมีหลายแง่มุมตามตัวอย่างข้างต้น จึงควรพิจารณาในแต่ละปัจจัยโดยมองในภาพรวม ไม่ให้น้ำหนักเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เลือกบริษัทจัดการรายที่คิดค่าบริการต่ำที่สุด โดยไม่คำนึงว่าบริษัทจัดการรายนี้เสนอเพียงนโยบายการลงทุนความเสี่ยงต่ำและกลาง ที่ไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมกับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สามารถยอมรับความเสี่ยงการลงทุนได้ในระดับสูง ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจส่งผลต่อผลตอบแทนที่สมาชิกจะได้รับในภายหลัง การคัดเลือกมือขวาที่มีเคมีเข้ากับสไตล์ของบริษัทคุณมากที่สุด ต้องใช้เวลาในการพูดคุยซักระยะ เรียนรู้แนวคิด สไตล์การจัดการกองทุน บริการหลังการขายที่จะให้แก่ลูกค้า เหมือนการคบใครสักคนที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ หากต้องการพูดคุยกับบริษัทจัดการที่หมายตาไว้ สามารถค้นหาช่องทางการติดต่อได้ที่ www.thaipvd.com

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit