ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พร้อมด้วยนายโอบะ ยูอิจิ อุปทูตรักษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา "EXIM Thailand and NEXI Collaboration: A New Chapter Begins" จัดโดย EXIM BANK ร่วมกับองค์กรรับประกันแห่งประเทศญี่ปุ่น (Nippon Export and Investment Insurance : NEXI) เพื่อสนับสนุนความรู้ โอกาส และเครื่องมือทางการเงินทั้งสินเชื่อและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง โดยมีผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นจำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมงาน ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และนางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมเป็นวิทยากร ณ โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566
ประธานกรรมการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่มีศักยภาพสูงด้านการค้าและการลงทุน ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะแรงงานราคาถูก ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จำนวนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของชุมชนเมืองและการพัฒนาอุตสาหกรรม เสถียรภาพทางการเมือง และข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีและพหุภาคี ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้ประกอบการจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้หลั่งไหลเข้าไปลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงใช้ประเทศเหล่านี้เป็นฐานการผลิตสินค้าและดำเนินธุรกิจบริการ รองรับการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศที่สาม อาทิ จีนและอินเดีย โดยมีผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้าไปเติมเต็มและเชื่อมโยงกับ Supply Chain การค้าโลก
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ก้าวใหม่ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK และ NEXI ในโลกการค้ายุคใหม่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน ทั้งบริการประกันการส่งออกและการลงทุน และการรับประกันต่อ เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ขยายผลสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกัน ครอบคลุมการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน ตลอดจนการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี โดยทั้งสองหน่วยงานจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นมีความพร้อมที่จะเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจระหว่างประเทศได้มากขึ้นอย่างมั่นใจ โดยเฉพาะในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคในเอเชียที่คล้ายคลึงกัน EXIM BANK จะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของธนาคารในการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุน โดยการเติมความรู้ โอกาสทางธุรกิจ และเงินทุน ตลอดจนเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
จากการคาดการณ์ขององค์กรรับประกันชั้นนำของโลก โควิด-19 และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ทำให้ธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 14% จากปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีอำนาจการต่อรองต่ำและเงินทุนหมุนเวียนไม่มากนัก จึงควรต้องบริหารความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า โดยกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดที่ยังเติบโตหรือมีกำลังซื้อสูง เช่น ตลาดใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เอเชียใต้ เป็นต้น และใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว ทั้งนี้ EXIM BANK ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการประกันการส่งออกตั้งแต่เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 มีปริมาณธุรกิจรับประกันการส่งออกสะสมจำนวน 1.82 ล้านล้านบาท ยอดจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนรวมประมาณ 1,400 ล้านบาท โดย 76% เกิดจากกรณีผู้ซื้อในต่างประเทศปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า รองลงมาประมาณ 23% เกิดจากผู้ซื้อล้มละลาย และอีก 1% เกิดจากผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า ประเทศที่มีมูลค่ายื่นขอรับสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ สินค้าที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ และอะลูมิเนียม
"ความร่วมมือกับ NEXI ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งภารกิจของ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังที่มุ่งดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา โดยขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ติดอาวุธให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาเป็นนักรบเศรษฐกิจในตลาดโลกได้มากขึ้น ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชีย ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม" ดร.รักษ์ กล่าว