กรมโยธาฯ ยกระดับแผนรับมือฤดูฝน เพิ่มประสิทธิภาพระบบป้องกันน้ำท่วม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พร้อมกำชับเร่งซ่อมแซมจุดชำรุด

19 Jun 2023

กรมโยธาฯ ยกระดับแผนรับมือฤดูฝน เพิ่มประสิทธิภาพระบบป้องกันน้ำท่วม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พร้อมกำชับเร่งซ่อมแซมจุดชำรุด

กรมโยธาฯ ยกระดับแผนรับมือฤดูฝน เพิ่มประสิทธิภาพระบบป้องกันน้ำท่วม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พร้อมกำชับเร่งซ่อมแซมจุดชำรุด

อุบลราชธานี/...อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง สั่งการ เร่งเตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ให้สามารถระบายน้ำและป้องกันพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือฤดูฝนนี้

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ปลายน้ำ เมื่อถึงฤดูฝนจะเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำสายหลักในภาคอีสาน ออกสู่แม่น้ำโขง ซึ่งฤดูฝนปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมอย่างหนัก ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในหลายพื้นที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ ได้ทำการศึกษาออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งแต่ ปี 2547 และ ปี 2563 ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 24.9 ตร.กม. ประกอบด้วย คันป้องกันน้ำท่วมที่ต้องดำเนินการ 5,423 เมตร และอาคารชลศาสตร์ 3 แห่ง โดยแบ่งระยะดำเนินการเป็น 4 ระยะ ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมระยะที่ 1 และ 2 แล้วเสร็จ ในระดับความสูง 113.50 ม.รทก. (ที่รอบการเกิดซ้ำ 3 ปี) เพื่อไม่ให้มีระดับคันป้องกันบดบังทัศนียภาพและการใช้ชีวิตของประชาชน

ซึ่งต่อมาในช่วงเวลาการก่อสร้างระยะที่ 3 ได้เกิดปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 กรมฯ จึงได้หารือทบทวนค่าระดับน้ำและเห็นควรยกระดับคันป้องกันน้ำท่วมเป็น 114.50 ม.รทก. (ที่รอบการเกิดซ้ำ 7 ปี) เพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งดำเนินการได้ประมาณครึ่งของระยะทางคันป้องกันน้ำท่วมที่ก่อสร้างไปแล้ว แต่ใน ปี 2562 มีน้ำท่วมรุนแรง ทำให้ต้องมีการพิจารณายกระดับคันป้องกันน้ำท่วมทั้งพื้นที่เป็น 115.50 ม.รทก. (ที่รอบการเกิดซ้ำ 17 ปี) ซึ่งได้รับงบประมาณดำเนินการระยะที่ 4 ในปี 2564 ซึ่งทางประชาชนและท้องถิ่น (เทศบาลเมืองวารินชำราบและเทศบาลตำบลคำน้ำแซบ) ได้ร่วมกันประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ได้ข้อสรุปขอลดระดับความสูงของคันป้องกันน้ำท่วมให้คงเหลือ 114.50 ม.รทก. เท่ากันทั้งโครงการ ซึ่งกรมฯ จะได้ดำเนินการแก้ไขตามมติของที่ประชุมประชาชนต่อไป

ด้านนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมขณะลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ว่าในระหว่างที่ทำการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ยังไม่แล้วเสร็จ กรมฯ ได้เตรียมแผนรับมือฤดูฝน ปี 2566 ในพื้นที่นี้ โดยจะต้องทำการปิดกั้นในพื้นที่จุดเสี่ยง จำนวน 6 จุด ซึ่งเป็นช่องว่างที่ยังไม่มีคันป้องกันน้ำท่วม เตรียมนำถุงทรายมาวางปิดชั่วคราวให้ได้ระดับ 113.50 ม.รทก. รวมทั้งเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพื่อสูบระบายน้ำบริเวณด้านในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำมูลนอกจากนี้ กรมฯ ได้สั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของคัน ทำนบ พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน รวมทั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ให้มีความพร้อมใช้งาน เพื่อเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังในการรับมือฤดูฝนปีนี้

และในส่วนของโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำมูล บริเวณเหล่ากาชาด และบริเวณหน้าวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี ที่เกิดการทรุดตัวก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้สั่งการให้ปิดกั้นพื้นที่ป้องกันแนวเขตอันตรายทันที และแจ้งเตือนประชาชนที่สัญจรในพื้นที่ ปัจจุบันได้ดำเนินการเจาะสำรวจชั้นดินและสภาพพื้นที่แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการออกแบบแก้ไขระยะเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้เร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินการเสริมความแข็งแรงของตลิ่งที่เสียหาย เพื่อให้ทันรับมือฤดูฝนนี้ และจะตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขในระยะยาวต่อไป