สคร. 12 สงขลา เตือนหน้าฝน เสี่ยงป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เน้นย้ำ หญิงตั้งครรภ์ ป้องกันอย่าให้ยุงลายกัด

08 Sep 2023

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) ห่วงหน้าฝน มีการระบาดของโรคที่นำโดยยุงลาย เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา  โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ต้องระวัง  หากติดเชื้อไวรัสซิกาจะมีผลกระทบรุนแรงต่อเด็กที่อยู่ในครรภ์ พร้อมแนะป้องกันอย่าให้ยุงลายกัด ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค  

สคร. 12 สงขลา เตือนหน้าฝน เสี่ยงป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เน้นย้ำ หญิงตั้งครรภ์ ป้องกันอย่าให้ยุงลายกัด

นายแพทย์เฉลิมพล  โอสถพรมมา  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ในพื้นที่ 7 จังหวัด ภาคใต้ตอนล่าง (วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่  6 กันยายน 2566 ) มีรายงานผู้ป่วย จำนวน 2 ราย อายุ 36 ปี อาชีพรับจ้าง และ 55 ปี อาชีพแม่บ้าน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ทั้ง 2 ราย พบในจังหวัดสงขลา

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี การติดต่อของโรคนี้จากการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด ระยะฟักตัวในคนประมาณ 3 - 12 วัน หลังจากนั้นจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นแดงที่บริเวณลำตัว แขนขา เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ อ่อนเพลีย และที่สำคัญหากหญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ ทำให้เด็กที่คลอดออกมามีภาวะศีรษะเล็กหรือมีอาการผิดปกติทางสมอง หากมีอาการขณะตั้งครรภ์ให้รีบไปพบแพทย์ โรคติดเชื้อไวรัสซิกาสามารถติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้ด้วย ปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสซิกายังไม่มีวัคซีนป้องกัน หากป่วยจะรักษาตามอาการ

นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด ด้วยการนอนในมุ้ง และทายากันยุง ใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาดจะป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 2.เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 3.เก็บขยะภายในบริเวณบ้านให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งมาตรการนี้ยังสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้อีกด้วย สำหรับหญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด ทายากันยุง และฝากครรภ์พบแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์ หากมีการติดเชื้อไวรัสซิกาอาจทำให้ทารกแรกเกิดมีความผิดปกติ เกิดภาวะศีรษะเล็ก และพัฒนาการช้าได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 

HTML::image(