วันที่ 15 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าพบปะกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหารือในประเด็นการเตรียมผลักดันแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะ ให้การต้อนรับ ณ ห้อง Passion (802) ชั้น 8 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวงแรงงานมีความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้มั่นคง ซึ่งภาคแรงงานเองจะต้องเข้มแข็ง มีทักษะฝีมือและมีหลักประกันทางสังคม การหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม วันนี้เรามีประเด็นที่ต้องหารือทั้งหมด 8 ประเด็น ประเด็นแรก เกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศคู่แข่ง ประเด็นที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนา SMEs นำระบบ Automation มาใช้ทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน ประเด็นที่ 3 การจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) ที่ทันสมัยถูกต้องแม่นยำและครบถ้วน เพื่อบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply) ด้านแรงงาน ประเด็นที่ 4 ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ในการผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน (STEM) ประเด็นที่ 5 การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวทำงานที่คนไทยไม่ทำ (3D) ประเด็นที่ 6 การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยภายในประเทศ ประเด็นที่ 7 แนวทางเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน และประเด็นสุดท้าย ปรับเพิ่มค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่าง ลูกจ้าง - นายจ้าง
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ผลจากการหารือในครั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการดำเนินการร่วมกันในทางนโยบายจากหลายภาคส่วนกระทรวงแรงงานจะทำตามอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ แต่เป้าหมายสำคัญที่ทางกระทรวงวางเป้าหมายไว้คือการสร้างให้พี่น้องแรงงานมีอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 400 บาท โดยการพัฒนาฝีมือแรงงาน Up Skill Re Skill ให้มีทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูงและมีมาตรฐานฝีมือ ซึ่งจะได้รับการจ้างงานที่มีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นไปตามกลไกการจ่ายค่าจ้างตามความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน รวมถึงแนวคิดให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง ในตอนนี้ยังไม่สามารถประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ทันที แต่จะเร่งหารือทุกฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนโดยคำนึงถึงค่าเงินเฟ้อด้วย "ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เด็กเกิดใหม่มีน้อยลง เราจะมีแนวทางพิจารณาขยายอายุงานในบางภาคส่วนได้หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องทำการบ้านกัน ทั้งนี้หลังหารือทุกภาคส่วนและได้ข้อสรุปแล้ว กระทรวงแรงงานจะประกาศมอบเป็นนโยบายของขวัญปีใหม่ 2567 ต่อไป" นายพิพัฒน์ กล่าวในท้ายสุด
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร และเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมเอกชนภายในประเทศ มีภารกิจการดำเนินงานเพื่อประสานนโยบายระหว่างภาครัฐ - เอกชนอยู่แล้ว การหารือร่วมกันในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เกิดการบูรณาการระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐที่จะช่วยเร่งขับเคลื่อนนโยบายด้านแรงงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตภาคแรงงาน ที่สำคัญจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจโดยเร็ว