5 ภาคีจับมือจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 เปิด 12 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ดึงลงทุนทั่วโลก

23 Aug 2023

สกพอ.จับมือ 4 ภาคีเครือข่ายธุรกิจ ร่วมจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 เดินเครื่องขับเคลื่อนชูนโยบายส่งเสริมการลงทุน ชู 5 คลัสเตอร์ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จัดแสดงนวัตกรรมสุดทันสมัย เสริมแกร่งผู้ประกอบการ ตั้งเป้าดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก สร้างหมุดหมายใหม่แห่งการลงทุนของไทยในพื้นที่ อีอีซี

5 ภาคีจับมือจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 เปิด 12 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ดึงลงทุนทั่วโลก

ในปี 2565-2570 เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้สอดรับบริบทของโลกอุตสาหกรรมในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท กระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต 5% ต่อปี รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นรองรับการลงทุน ด้วยความสำคัญดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี รวมถึงยกระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงให้พื้นที่นี้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงรวมถึงสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ให้มีตลาดและศักยภาพที่สูงขึ้น จึงได้ผนึกความร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ), หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 งานแสดงศักยภาพการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ สร้างโอกาสเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการและดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาร่วมลงทุน โดยมีหมุดหมายที่สำคัญให้พื้นที่ อีอีซี เป็น "จุดหมายในการลงทุนใหม่ของประเทศ"

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า วันนี้การพัฒนาพื้นที่ EEC เรายึดหลักพัฒนาที่สอดรับกับบริบทโลกของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุนจากทั่วโลกในพื้นที่เศรษฐกิจนี้ ก้าวแรกที่สำคัญของเป้าหมาย 5 ปีต่อจากนี้ คือ เริ่มจากพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ ที่ดินผ่านการจัดสรรให้เกิดการลงทุนเจาะเฉพาะแต่ละกลุ่มธุรกิจ การพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง รวมทั้งการปรับปรุงกลไกทางกฎหมายและระเบียบให้ง่ายแก่การเข้ามาลงทุน ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งทาง อีอีซี ได้ตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศให้ได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ภายในช่วงปี 2565-2570 โดยขณะนี้ได้เดินหน้าผลักดันการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยแผนงานการสร้างการรับรู้นโยบายในวงกว้าง ด้วยการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือการจัดโรดโชว์ต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผู้ขายในพื้นที่ ได้เชื่อมต่อกับผู้ซื้อทั้งจากไทยและต่างชาติ โดยการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าวจะดำเนินการในเชิงบูรณาการกับภาคีเครือข่ายธุรกิจชั้นนำของไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของการจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ครั้งแรก! ในพื้นที่ อีอีซี มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้กลายเป็นหมุดหมายใหม่แห่งการลงทุนของประเทศ

"การจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 สกพอ. จะจัดแสดงนิทรรศการสร้างการรับรู้นโยบายการส่งเสริมการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ มีการปาฐกถาในหัวข้อ "Thailand's Eastern Economic Corridor: A Bold Strategic Move" ชูเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนา EEC ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไฮเทค นวัตกรรม และโลจิสติกส์ รวมถึงเป็นประตูสู่ภูมิภาคด้านการค้าการลงทุน ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าในปี 2566 นี้ จะเป็นปีแห่งการลงทุน โดยเฉพาะการจัดคลัสเตอร์แต่ละอุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้มีการเจรจาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี เพิ่มขึ้น และเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสื่อสารยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการทำงานของ สกพอ. ต่อไป รวมถึงปูพรมไปสู่การจัดงาน EEC Fair ในปี 2568"นายจุฬา กล่าวเสริม

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บร่วมสนับสนุนการจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ในเมืองพัทยา ในฐานะที่เมืองพัทยาเป็นเมืองรุ่นแรกที่ทีเส็บผลักดันให้เป็นเมืองไมซ์ที่มีมาตรฐานสถานที่จัดงาน มีจุดขายในการดึงงานและมีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการไมซ์ในพื้นที่ในฐานะพันธมิตรที่สามารถร่วมมือผลักดันให้การจัดงานประสบผลสำเร็จ การจัดงานร่วมกับภาคีในครั้งนี้จะเป็นแรงส่งให้สิ่งที่ทีเส็บผลักดันในเมืองพัทยาได้รับการต่อยอด โดยเฉพาะการสร้างจุดขายใหม่ของเมืองพัทยาในฐานะเมืองที่มีโอกาสทางธุรกิจและการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของอีอีซี และจะใช้จุดขายนี้ในการทำการตลาดต่างประเทศและการตลาดในประเทศให้เมืองพัทยา เพราะเชื่อว่าจุดขายเชิงธุรกิจที่ชัดเจนนี้จะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับจุดขายเชิงอินเซนทีฟและเทศกาลที่มีอยู่เดิมหรือทำให้ภาพความเป็นเมืองไมซ์ของพัทยามีน้ำหนักมากขึ้น ครอบคลุมทั้งการประชุมนานาชาติ งานแสดงสินค้า การประชุมองค์กร การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลและงานเทศกาลนานาชาติ

นางสาวอรพินท์ เสริมประภาศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า สำหรับ ส.อ.ท. พร้อมนำโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ด้านการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรที่สามารถเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่  และยังนำโครงการ SAI (Smart in the City) ที่กำลังขยายไปยัง  5 ภาคและแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับภาคการเกษตร และยังส่งผลดีต่อการตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่เป็นปัญหาระดับโลก พร้อมทั้งการจัดตั้งหน่วยงาน สถาบันเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สถาบันคาร์บอนเครดิต) เพื่อผลักดันภารกิจ Climate Change ภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมการสร้างตลาดกลางของชาติในการแลกเปลี่ยนซื้อขายกรีนคาร์บอนและพลังงานสะอาด และเพื่อรับรองมาตรฐานสากลทางด้านกรีนคาร์บอน โดยให้กระบวนการทั้งหมดเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ โดยจะมีการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆของ ส.อ.ท.

นายจิตรกร เผด็จศึก กรรมการหอการค้าไทย ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 และประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับ อีอีซี อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการหารือและร่วมกันผลักดันในประเด็นทางเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ การยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การศึกษารวมถึงการค้า การลงทุน เพื่อให้ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และสินค้าอาหารปลอดภัยที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเป็นประตูสู่เศรษฐกิจโลก และเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวมาตรฐานสากล ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ถือเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติได้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ อีอีซี เราพร้อมนำนโยบายใหม่ที่มาจากพลังเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและการค้า ตามแนวทางหลัก คือ Connect, Competitive, Sustainable มาร่วมจัดแสดงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคการค้าและธุรกิจในพื้นที่

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยและเคยสร้างรายได้ได้สูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 18% ของ GDP หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว ซึ่งพื้นที่ อีอีซี ถือเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์ในการเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำงานร่วมกับ อีอีซี ในหลากมิติ อาทิ จัดกิจกรรม Workshop ออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยว ส่งเสริม High Value Tourism กลุ่มนักท่องเที่ยวอนาคต เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ทั้งในด้านของรายได้และสิ่งแวดล้อม การสร้างการมีส่วนร่วมในการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวและการเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานในครั้งนี้ ทางสภาอุตฯ ท่องเที่ยวมั่นใจว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ อีอีซี เป็นจุดแข็งที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ยกระดับการพัฒนาชุมชนควบคู่ไปกับการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม

งาน EEC Cluster Fair 2023 จัดขึ้นร่วมกับงาน MiRA และ Subcon EEC 2023 (โดย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์) งานแสดงเทคโนโลยีด้านการบำรุงรักษา การซ่อมบำรุงที่ทันสมัย เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โซลูชันงานอุตสาหกรรมจากแบรนด์ชั้นนำ พร้อมงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจที่สำคัญของภูมิภาค ผลักดันให้ไทยพร้อมรองรับอุตสาหกรรมอนาคต ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างหมุดหมายการลงทุนแห่งใหม่ของไทยในงาน EEC Cluster Fair 2023 งานแสดงศักยภาพการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี ติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมภายในงานได้ทาง www.mira-event.com

5 ภาคีจับมือจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 เปิด 12 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ดึงลงทุนทั่วโลก
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit