หัวเว่ยสนับสนุนความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรม เร่งเครื่องสู่ยุค 5.5G ไปพร้อมกัน

08 Mar 2023

หัวเว่ย จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ "การมาถึงของ 5.5G" ภายในงานมหกรรม Mobile World Congress (MWC) 2023 ในเมืองบาร์เซโลน่า โดยหัวเว่ยได้เรียกร้องให้เหล่าพันธมิตรในอุตสาหกรรม ร่วมกันผลักดันมาตรฐานกลาง และพัฒนา 5.5G สำหรับการใช้งานในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง เพื่อก้าวสู่โลกอัจฉริยะไปพร้อมกัน

หัวเว่ยสนับสนุนความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรม เร่งเครื่องสู่ยุค 5.5G ไปพร้อมกัน

นายหยาง เชาปิน รองประธานอาวุโสและประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันไอซีทีของหัวเว่ย ได้อธิบายถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ว่า "การเติบโตอย่างรวดเร็วของ 5G นำไปสู่ความต้องการบริการในรูปแบบใหม่ ที่ไม่เพียงแตกต่างจากเดิมแต่ยังมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้ศักยภาพของ 5G ที่เหนือระดับขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งเทคโนโลยี 5.5G ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนา 5G โดยอุตสาหกรรมเองก็มีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้และกำลังดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ปัจจุบัน อุตสาหกรรมไอซีทีได้จัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับมาตรฐาน 5G-Advanced (5.5G), F5G-Advanced (F5.5G), และ Net5.5G พร้อมทั้งกำหนดกลยุทธ์ในการใช้คลื่นความถี่อย่างชัดเจน มีการตรวจสอบเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันหลักในการดำเนินการ ซึ่งการสร้างมาตรฐานเดียวกันให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเช่นนี้ได้นำไปสู่แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และด้วยการพัฒนาต่างๆ เหล่านี้เอง ที่เป็นตัวเร่งการเติบโตของ 5.5G ให้สามารถพัฒนาประสิทธิภาพของเครือข่ายได้มากขึ้นถึง 10 เท่าสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการยกระดับผลิตผลด้านดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น"

5.5G กลายเป็นเทรนด์ร่วมกันอย่างชัดเจนสำหรับอุตสาหกรรม

นายหยาง อธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะที่เทคโนโลยี 6G ยังอยู่ในช่วงต้นของการวิจัย 5.5G คือสิ่งจำเป็นและเป็นขั้นตอนต่อไปของการพัฒนา 5G ซึ่งอุตสาหกรรมในภาพรวมต่างก็เห็นด้วยและจริงจังกับแนวคิดนี้ ทั้งนี้ เขามองว่าอุตสาหกรรมจะต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของ 5.5G ใน 4 ด้านดังต่อไปนี้

  1. แนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรม ปัจจุบัน อุตสาหกรรมไอซีทีได้เริ่มจัดทำมาตรฐานสำหรับเทคโนโลยี 5.5G แล้ว โดยมีการระบุคุณสมบัติทางเทคนิคไว้ในเอกสารคู่มือ 3GPP Release 18 19 และ 20 ทั้งนี้ 3GPP Release 18 จะใช้จนถึงภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2567 ขณะที่เทคโนโลยี F5.5G กำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนาจากขั้นตอนการนำเสนอแผน ไปสู่ขั้นตอนของการออกแบบคุณสมบัติจำเพาะ โดยเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา สถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมของยุโรป (ETSI) ได้จัดทำสมุดปกขาวแบบละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยี F5G และยังนำไปสู่การจัดทำเอกสารคู่มือ F5.5G ฉบับแรก ในฉบับ Release 3 เพื่อนำไปใช้จนกว่าจะยกเลิกภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2567 ในส่วนขององค์กรวางมาตรฐานอินเทอร์เน็ต (IETF) และสถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (IEEE) ก็ได้เริ่มดำเนินการจัดทำมาตรฐาน Net5.5G เฟสแรกแล้ว โดยมุ่งเน้นในเทคโนโลยี Segment Routing over IPv6 (SRv6), Wi-Fi 7, 800GE และอื่น ๆ พร้อมตั้งเป้าจัดทำมาตรฐานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567
  2. กลยุทธ์การใช้คลื่นความถี่ที่มีความชัดเจน คลื่นความถี่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับเครือข่ายไร้สาย ขณะที่อุตสาหกรรม 5.5G มุ่งส่งเสริมการใช้งานคลื่นความถี่ในย่านความถี่ที่ต่ำกว่า 100 กิกะเฮิรตซ์ ดังนั้นจะต้องมีการรื้อโครงสร้างคลื่นความถี่ใหม่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการพัฒนาไปสู่ 5.5G จะเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด อุตสาหกรรมไอซีทีจึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้มั่นใจได้ว่า คลื่นความถี่ที่มีแบนด์วิดท์ขนาดใหญ่อย่าง mmWave และย่านคลื่นความถี่สูงของ 6 GHz (U6GHz) จะได้รับการจัดสรรมาใช้ใน 5.5G ด้วย
  3. ส่งเสริมการใช้มาตรฐานที่อุตสาหกรรมยอมรับ เทคโนโลยี 5.5G ได้กลายมาเป็นเป้าหมายร่วมกันของอุตสาหกรรม เห็นได้จากการที่ผู้ให้บริการโครงข่ายชั้นนำได้สนับสนุนการรับรองทางด้านเทคโนโลยีและการวางมาตรฐาน โดยล่าสุด สมาคมผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายชั้นนำของโลกอย่างสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) และเหล่าพันธมิตรในอุตสาหกรรมได้จัดตั้งคอมมูนิตี้ 5.5G ขึ้นภายในงาน MWC Barcelona 2023 ขณะเดียวกัน สมาคมบรอดแบรนด์โลก (Word Broadband Association) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2565 ยังได้ปล่อยสมุดปกขาว "Next Generation Broadband Roadmap" ซึ่งมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี F5.5G โดยเฉพาะ นอกจากนี้ บริษัทให้คำปรึกษาและวิเคราะห์ชั้นนำอย่าง Omdia ยังได้จัดทำสมุดปกขาว Net5.5G เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการของอุตสาหกรรมในการเร่งเครื่องพัฒนาเชิงเทคนิค รูปแบบการใช้งาน และการสร้างอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรม เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอนาคต
  4. วิวัฒนาการที่ราบรื่นเพื่อผลตอบแทนสูงสุดจากการลงทุน 5.5G จะมีส่วนช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีหลัก ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างคลื่นความถี่ และการทำ multimode multiplexing สำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้สามารถนำทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ในเครือข่าย 5G มาบูรณการ เพื่อใช้ในการพัฒนาไปสู่ 5.5G ได้อย่างราบรื่น วิธีการดังกล่าวนี้ยังจะช่วยรักษาการลงทุนให้กับผู้ให้บริการโครงข่ายอีกด้วย

เมื่อเทคโนโลยีหลักพัฒนาจนถึงขีดสุด และแอปพลิเคชันทั้งหมดได้รับการรับรอง ยุค 5.5G จึงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

นายหยางเปิดเผยว่าจากความพยายามร่วมกันของอุตสาหกรรม นำมาสู่การพัฒนานวัตกรรมของเทคโนโลยีสำคัญมากมาย โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการโครงข่ายหลายรายทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในการตรวจสอบรับรองเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Extremely Large Antenna Array (ELAA) และ Multi-band Serving Cell (MBSC) ส่งผลให้แนวคิดความเร็ว 10 Gbps เป็นไปได้จริงสำหรับ 5.5G

ทั้งนี้ การที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU-T) ให้การยอมรับเทคโนโลยี 50G PON ว่าเป็นเครือข่ายเชิงแสงแบบพาสซีฟเจนเนอเรชันใหม่ และการพัฒนาขีดสุดของเทคโนโลยี เช่น ระบบสมมาตรสัญญาณ uplink และ downlink และระบบ multi-band in one ล้วนปูทางไปสู่วิวัฒนาการของ F5.5G เช่นกัน

นอกจากนี้ การพัฒนา 5.5G และ F5.5G ยังจะนำไปสู่การยกระดับนวัตกรรมแบบ IP-based ที่จะต่อยอดไปสู่ยุค Net5.5G และในยุคนี้เราจะได้เห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ 800GE ultra-broadband, E2E IPv6+ ระบบอัจฉริยะ ด้านความปลอดภัย และในด้านค่าความหน่วง (latency) นำมาซึ่งศักยภาพ โอกาส และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะสร้างการเติบโตให้กับผู้ให้บริการโครงข่ายยิ่งขึ้น.

ปัจจุบัน 5G ได้เติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากมีการนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ 3 ปี ในช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มียอดผู้ใช้งาน 5G ทั่วโลกเกิน 1,000 ล้านคน ขณะที่ผู้ใช้งานบอร์ดแบนด์ระดับกิกะบิตทะลุ 100 ล้านคน และมีการใช้งานแอปพลิเคชัน 5G ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากกว่า 20,000 แอปพลิเคชัน บริการแบบ immersive รูปแบบใหม่ ๆ เช่น XR และโฮโลกราฟิกกำลังเติบโตอย่างเต็มที่ และประสบการณ์การเชื่อมต่อกำลังพัฒนาจากระดับ 1 กิกะบิตเป็น 10 กิกะบิต เทรนด์การเติบโตของแอปพลิเคชัน IoT เป็นไปอย่างรวดเร็วจนเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา การเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ในประเทศจีนมีจำนวนมากกว่าประชากรในประเทศแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลยังขยายไปสู่ระบบการผลิตหลัก นำมาซึ่งความต้องการใช้งานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น สัญญาณ uplink แบบ 1 กิกะบิตมีความจำเป็นอย่างมาก ต่อการรองรับการพัฒนาระบบตรวจสอบระยะไกลด้วย AI ที่มีความแม่นยำสูงในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ระบบขับขี่อัตโนมัติ และบริการอื่น ๆ ที่ต้องบูรณาการ 5G คลาวด์ และ AI ร่วมกันในการดำเนินงาน

งานมหกรรม MWC Barcelona 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม พ.ศ. 2566 ในเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน โดยหัวเว่ยเข้าร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่าง ๆ ในบูท 1H50 ในอาคาร Fira Gran Via Hall 1 ภายในงานหัวเว่ยยังได้จัดปาฐกถาร่วมกับผู้ประกอบการโครงข่ายชั้นนำของโลก ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และผู้นำทางความคิด ในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ ความสำเร็จของธุรกิจ 5G โอกาสในการผลักดัน 5.5G การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และวิสัยทัศน์ของหัวเว่ยในการขับเคลื่อนต้นแบบทางธุรกิจ GUIDE เพื่อวางรากฐานให้กับ 5.5G และการต่อยอดความสำเร็จของ 5G ที่ดียิ่งขึ้น

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://carrier.huawei.com/en/events/mwc2023

HTML::image(