เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมาคมคลังปัญญาอาวุโสแห่งประเทศไทย และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส จัดงานเสวนาเรื่อง "สื่อกับความรุนแรง : ความรับผิดชอบร่วมของใคร..." เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหา และหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความสูญเสียที่จะตามมา
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก รองประธานคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน วุฒิสภา และนายก สสดย. ผู้ริเริ่มจัดงานเสวนาในครั้งนี้ กล่าวว่า การใช้สื่อของคนไทย บางส่วนยังขาดความรับผิดชอบ และไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อการรับรู้ของคนในสังคม ที่อาจนำมาซึ่งพฤติกรรมเลียนแบบ หรือก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจและทางสังคมของผู้ตกเป็นข่าว หรือผู้เกี่ยวข้องเมื่อมีการเผยแพร่ส่งต่อออกไปในวงกว้าง ปรากฏการณ์เหล่านี้อาจก่อให้เกิดความสูญเสียตามมาในหลายระดับ สสดย.จึงมุ่งหวังที่จะให้ทุกภาคส่วนแสดงออกถึงความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการร่วมในการลดความรุนแรงผ่านสื่อในสังคมไทย โดยคณะทำงานฯ ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ซึ่งประกอบด้วยภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ได้พยายามขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ และการเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชน การพัฒนาและขยายพื้นที่สื่อดี การลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชน และเสนอให้มีการพัฒนาและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ เป็นต้น ข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้ ได้รับการผลักดันกระทั่งเป็นมติคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือ หลายภาคส่วนอาจจะยังไม่ได้รับทราบ หรือไม่ได้นำข้อเสนอไปปฏิบัติจริง โดยหากทุกภาคส่วนได้ร่วมขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ไปพร้อมกัน ก็จะส่งผลให้การสื่อสารในสังคมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ รับผิดชอบ และไม่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งจะสามารถลดความรุนแรงอันเกิดจากการใช้สื่อ หรือลดความรุนแรงผ่านสื่อได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเสนอความรุนแรงผ่านสื่อในหลากหลายรูปแบบเป็นจำนวนมาก ทั้งความรุนแรงจากข่าวเหตุการณ์ฆาตกรรม การทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน การทำร้ายจิตใจจากการด่าทอว่าร้าย การกลั่นแกล้งด้วยวิธีการต่าง ๆ ทางโลกออนไลน์ หรือ Cyber bullying และการมีฉากรุนแรงโหดร้ายในละคร เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาจากสื่อย่อมส่งผลให้เกิดความรุนแรงในสังคมตามมาอีกด้วย ทั้งนี้ การใช้ความรุนแรงส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชีวิตเด็ก โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดจากคนในครอบครัวและคนใกล้ตัว และการถูกทารุณกรรมต่อเนื่องซ้ำ ๆ ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ในตัวตน การพัฒนาบุคลิกภาพ การเรียนรู้ ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และอาจนำไปสู่วงจรการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัวและสังคมต่อไป
ด้านรองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี นักวิชาการอาวุโสด้านสื่อสารมวลชน และที่ปรึกษา สสดย. กล่าวว่า สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมที่ต้องปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับผู้รับสารในทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ความรุนแรงผ่านสื่อเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เราจึงควรสร้างความตระหนักรู้แก่ทุกฝ่ายถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมโดยรวม ดังนั้น การสื่อสารผ่านสื่อทุกแขนง ทั้งสื่อที่เป็นองค์กรวิชาชีพ หรือสื่อบุคคล ต่างต้องมีหลักการในการใช้สื่ออย่างถูกต้อง โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรมและกฎหมาย เพื่อให้เกิดสุขภาวะทางการสื่อสารในสังคมไทย
ทั้งนี้ งานเสวนาเรื่อง "สื่อกับความรุนแรง : ความรับผิดชอบร่วมของใคร..." จัดขึ้น ณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน รวมถึงผู้แทนเด็กและเยาวชนจำนวนมาก พร้อมส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากเวทีเสวนาแก่คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนและร่วมสร้างสังคมปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนต่อไป
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit