ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) แถลงรายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปี 2565 โดยจากการศึกษาวิจัยในกลุ่มประชากรไทยอายุระหว่าง 13-60 ปี สะท้อนทัศนคติของคนไทย ต่อ สถานการณ์ "คุณธรรม" ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ผลการวิจัยล่าสุดพบว่า คนไทยมองตัวเองมีคุณธรรมครบ 5 ด้าน พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และกตัญญู ในระดับพอใช้เท่านั้น แม้ในรายละเอียดคนไทยยังมีความกตัญญูสูง แต่มีความสุจริตในระดับพอใช้ และความพอเพียงในระดับน้อย ขณะที่ภาพรวมมิติคุณธรรมด้านต้นทุนชีวิตใน 5 พลัง ยังถือว่าอยู่ในระดับดี แต่ยังมีจุดด้อยที่ความอ่อนแอด้านพลังชุมชน ที่ควรเร่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมกันต่อไป
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เผยถึงบทบาทขององค์กรและความสำคัญของการศึกษาวิจัยทางสังคมในมิติคุณธรรมครั้งนี้ว่า เป็นงานวิชาการที่จะเป็นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนทางสังคมในมิติคุณธรรม โดยอิงจากองค์ความรู้และข้อมูลที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน "บทบาทหลักของศูนย์คุณธรรม ในฐานะองค์การมหาชนสายวิชาการ เน้นการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อให้เครือข่ายทางสังคม ได้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรมตามบริบทของแต่ละหน่วยงาน และเป็นฐานองค์ความรู้ที่สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบายและออกแบบกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมในระดับปฏิบัติการโดยการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทยประจำปี 2565 ถือเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ซึ่งศูนย์คุณธรรมได้จัดทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา และมีการเผยแพร่องค์ความรู้นี้ต่อสาธารณะชนสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป" รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าว
ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปี 2565 ฉบับล่าสุด ศูนย์คุณธรรมได้ดำเนินงานร่วมกับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศึกษาวิจัยสำรวจกลุ่มประชากรไทยวัย 13-60 ปีทั่วประเทศ ใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ หนึ่ง รวบรวมสถานการณ์สำคัญด้านคุณธรรมในปีที่ผ่านมา สอง ประเมินสถานการณ์คุณธรรม จากดัชนีชี้วัดคุณธรรม 5 มิติ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และกตัญญู และข้อสาม การสำรวจต้นทุนชีวิต 5 พลังหรือ 5 ด้าน ประกอบด้วย พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา/ที่ทำงาน พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน
ผลการศึกษาทั้งสามส่วนนี้ สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนไทยและสังคมไทยที่มีต่อ "คุณธรรม" ในยุคปัจจุบัน
ภาพรวมคุณธรรมคนไทยมองตัวเองแค่พอใช้ ยังยึดมั่นกตัญญู วัยเกษียณลดความพอเพียง
ผลจากงานวิจัย ยังพบว่า คนไทยทุกช่วงวัยประเมินว่าตนเองมีคุณธรรมครบ 5 ด้าน ในระดับพอใช้เท่านั้น คนไทยยังมีความกตัญญูสูง แต่มีความสุจริตในระดับพอใช้ และความพอเพียงในระดับน้อย การสำรวจ "ดัชนีชี้วัดคุณธรรมของคนไทย" ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และกตัญญู ในกลุ่มประชากรตัวอย่าง งานวิจัยสถานการณ์คุณธรรมครั้งนี้ สำรวจกลุ่มตัวอย่างคนไทยอายุระหว่าง 13-60 ปี แบ่งเป็น 3 ช่วงวัย คือ วัยเด็กและเยาวชน อายุ 13-24 ปี วัยทำงาน อายุ 25-40 ปี และวัยผู้ใหญ่อายุ 41 ปีขึ้นไป โดยในมิติคุณธรรมด้านความกตัญญู กลุ่มตัวอย่างทุกช่วงวัยประเมินตัวเองว่า มีความกตัญญูในระดับมาก สะท้อนให้เห็นว่าความกตัญญู ซึ่งเป็นคุณธรรมดั้งเดิมของสังคมไทยยังคงได้รับความสำคัญจากคนยุคปัจจุบัน ขณะที่ คุณธรรมในด้านความสุจริต คนวัยเด็กและวัยทำงานประเมินตัวเองอยู่ในระดับพอใช้เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าควรมีการส่งเสริมคุณธรรมด้านสุจริตในสังคมไทยให้มากขึ้น คุณธรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน คือ คุณธรรมในด้านความพอเพียง ซึ่งประชากรวัยผู้ใหญ่อายุ 41 ปีขึ้นไป ประเมินว่าตนเองมีความพอเพียงในระดับน้อย โดยคณะนักวิจัยชี้แนะถึงสาเหตุว่าอาจเป็นเพราะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดโค วิด19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนวัยนี้ต้องนำเงินออมมาใช้จ่ายก่อนเกษียณมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
ต้นทุนชีวิต 5 พลังยังดีแต่มิติพลังชุมชนอ่อน
อย่างไรก็ตาม ในรายงานฉบับล่าสุดผลวิจัยในมิติคุณธรรมด้าน "ต้นทุนชีวิต 5 พลัง" ของคนไทย พบว่าแม้ภาพรวมต้นทุนชีวิตทั้ง 5 พลัง อยู่ในเกณฑ์ดีสำหรับทุกช่วงวัย แต่พลังชุมชนยังมีน้อยและควรมีการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งเพิ่มขึ้น โดย ต้นทุนชีวิต 5 พลัง อันเป็นระบบนิเวศรอบตัวที่สำคัญส่งผลต่อทัศนคติและพฤตินิสัยของบุคคล ได้แก่ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา/พลังที่ทำงาน พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน ซึ่งในประชากรกลุ่มตัวอย่างทุกช่วงวัย ประเมินว่าตนเองมีพลังชุมชนน้อยกว่าพลังอื่นๆ ข้อชี้แนะคือควรเร่งส่งเสริมหรือออกแบบกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างพลังชุมชนให้กลับมาเข้มแข็งโดยเร็ว เช่น กิจกรรมเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมของชุมชน เป็นต้น
ประมวลสถานการณ์คุณธรรมปัจจุบันที่น่าเป็นห่วง
โดยสรุป รายงานสถานการณ์คุณธรรมจากผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ สามารถประมวลสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปัจจุบันไว้ ซึ่งสะท้อนถึงสภาวะที่น่ากังวลด้านคุณภาพชีวิตคนไทย เช่น สถานการณ์ "หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี" สถานการณ์ "ผู้สูงวัยเผชิญภาวะอยู่ตามลำพัง" ขาดคนดูแล รวมถึงสัญญาณเตือนจากอันดับเชิงคุณภาพชีวิตในระดับโลก ใน สถานการณ์วิกฤติคุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยย่ำแย่ และ สถานการณ์ด้านคุการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งผลวิจัยพบว่า ดัชนีรับรู้การทุจริตปี 2564 ของประเทศไทย อยู่ต่ำมากที่ 110 ของโลก สถานการณ์คุณธรรมอื่นๆ รวมถึง สถานการณ์"เทรนด์อาชีพอิสระ" กับ ความหวังแรงงานยุคโควิด 19 สถานการณ์อุบัติเหตุ ในปี 2565 พุ่งสูงขึ้น สาเหตุขาดวินัยการขับขี่ สถานการณ์ที่เกี่ยวกับโลกไซเบอร์ ใน 2 ประเด็นหลัก ทั้งสารพัดเรื่องหลอกลวงในโลกออนไลน์ และ สื่อออนไลน์ กับภัยคุมคามเยาวชน และปัญหาครอบครัว ในขณะที่ ปรากฎการณ์จิตอาสา เมื่อคนดีต้องมีพื้นที่ยืน เป็นสถานการณ์คุณธรรมที่สะท้อนทัศนคติคนไทยทั้งเชิงบวกและลบ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้ทาง www.moralcenter.or.th
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit