บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแรก ปี 2566 เผยแผนพลิกฟื้นธุรกิจให้กับเรด ล็อบสเตอร์ ธุรกิจร้านอาหารทะเลระดับโลก ให้สัญญาณบวก โดยได้รับส่วนแบ่งผลกำไร 121 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งขาดทุนจำนวน 243 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2565
บริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาสแรก 1,022 ล้านบาท ลดลง 41.5 เปอร์เซ็นต์ จาก 1,746 ล้านบาทในปีก่อนหน้า สาเหตุหลักจากการที่รายงานการเงินในปี 2566 นี้ มี 2 รายการที่ไม่สามารถเทียบได้ที่ถูกบันทึกในปี 2565 ได้แก่
ดังนั้น หากเปรียบเทียบกำไรสุทธิไตรมาสแรกของปีนี้กับปีที่แล้วที่ไม่นับรวมสองรายการนี้ กำไรสุทธิจะลดลง 21.8 เปอร์เซ็นต์
สำหรับยอดขายประจำไตรมาสของไทยยูเนี่ยนอยู่ที่ 32,652 ล้านบาท ลดลง 10.0 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ยอดขายมีความแข็งแกร่ง เป็นไปตามคาดการณ์ของบริษัท สาเหตุจากความต้องการสินค้าปรับตัวลงทั่วโลกจากการที่คู่ค้าในภูมิภาคต่างๆ มีปริมาณสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นทำให้การสั่งซื้อสินค้าชะลอตัวลง
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เราคาดการณ์ไว้ว่าไตรมาสแรกของปีนี้จะเป็นไตรมาสอ่อนตัวที่สุด เป็นผลสืบเนื่องมาจากยอดขายอยู่ในอัตราที่สูงในปีที่ผ่านมา สินค้าคงคลังของลูกค้าอยู่ในระดับที่สูง และสถานการณ์ค่าขนส่งปรับตัวสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม เรายังมองว่าปี 2566 สามารถกลับมามีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยเริ่มมีสัญญาณที่เป็นบวกในไตรมาสที่ 2 และเราคาดว่าสถานการณ์ต่างๆ จะกลับสู่สภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี จากกระแสการบริโภคอาหารทะเลและโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก"
ในไตรมาสแรกนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทได้ลดลงถึง 12.1 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 4,121 ล้านบาท จากการที่ค่าใช้จ่ายในการขนส่งปรับตัวดีขึ้นเข้าสู่สภาวะปกติ
ผลจากการที่ตลาดทั่วโลกมีสินค้าคงคลังอยู่ในปริมาณที่สูงและราคาปลาที่สูงทำให้ความต้องการสินค้าต่างๆ ปรับตัวลง รวมถึงยอดขายในไตรมาสแรกของธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องของไทยยูเนี่ยนที่ลดลง 1.9 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ระดับ 15,225 ล้านบาท และยอดขายของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงลดลง 21.9 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ระดับ 3,495 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าความต้องการสินค้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์สินค้าคงคลังที่มีอยู่มากได้ค่อยๆ คลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นมียอดขายอยู่ที่ระดับ 11,684 ล้านบาท ลดลง 15.3 เปอร์เซ็นต์ จากการปรับตัวของราคาอาหารทะเลในตลาดสู่ภาวะปกติและยอดขายในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง สำหรับธุรกิจสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่นๆ มียอดขายอยู่ที่ 2,248 ล้านบาท ลดลง 9.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังสามารถคงอัตรากำไรขั้นต้นได้แข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 27.3 เปอร์เซ็นต์ ไทยยูเนี่ยนยังได้เปิดตัวสินค้าใหม่ที่พัฒนาด้วยนวัตกรรมของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น อาทิ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ทูน่าจากพืช ภายใต้แบรนด์ จอห์น เวสต์ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และ เรด ล็อบสเตอร์ ได้เปิดตัวสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งเป็นครั้งแรก ซึ่งมีวางจำหน่ายในร้านค้ากว่า 5 พันแห่งและออนไลน์ทั่วสหรัฐอเมริกา
ในด้านยอดขายจากตลาดต่างๆ ทั่วโลกนั้น ไทยยูเนี่ยนมีสัดส่วนยอดขายตามภูมิภาคมีดังนี้ สหรัฐอเมริกาและแคนาดาอยู่ที่ 43 เปอร์เซ็นต์ ยุโรป 26 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทย 12 เปอร์เซ็นต์ และภูมิภาคอื่นๆ 19 เปอร์เซ็นต์
"เรายังคงมุ่งเน้นเรื่องความสามารถในการทำกำไร การดำเนินงานด้วยความเป็นเลิศ และวินัยทางการเงิน เดินหน้าธุรกิจเราอย่างเต็มที่ตลอดปีนี้ สถานะทางการเงินของไทยยูเนี่ยนแข็งแกร่งด้วยสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 0.57 เท่า ซึ่งดีกว่าเป้าหมายของเราที่ตั้งไว้ที่ระดับ 1-1.1 เท่า เปิดโอกาสให้เราสามารถมองไปข้างหน้าสู่การลงทุนใหม่ๆ ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่จะตอบโจทย์ด้านกลยุทธ์ให้กับบริษัท" นายธีรพงศ์กล่าว
ไทยยูเนี่ยนยังคงลงทุนในโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยงบลงทุน 6-6.5 พันล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในทุกประเภท มีการก่อสร้างโรงงาน 3 แห่งในจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ โรงงานผลิตอาหารพร้อมทาน ติ่มซำและสินค้าเบเกอรี่ โรงงานผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสตและคอลลาเจน เป็ปไทด์ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกและขนมทานเล่นที่มีไลน์การบรรจุหีบห่อแบบอัตโนมัติ และห้องเย็นอีกหนึ่งแห่งในประเทศกาน่า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit