วว. โชว์นวัตกรรมเพิ่มผลผลิต/คุณภาพ ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมนอกฤดูกาล พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดสมุทรสงคราม

05 Apr 2023

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก) ดร.กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส ศนก. และ ดร.สรวิศ แจ่มจำรูญ นักวิจัย ศนก. ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ติดตามผลการดำเนิน โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีภายใต้การสนับสนุนโดย สภาพัฒน์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมสู่ภูมิภาค ก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูป พร้อมกระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ณ จังหวัดสมุทรสงคราม

วว. โชว์นวัตกรรมเพิ่มผลผลิต/คุณภาพ ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมนอกฤดูกาล พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดสมุทรสงคราม

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ณ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ว่า วว. นำนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่ ผ่านการดำเนินงาน "การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชส่งเสริมการผลิตลิ้นจี่พันธุ์ค่อม" จำนวน 7 พื้นที่ โดยใช้สารควบคุมฯ กับต้นลิ้นจี่จำนวนกว่า 200 ต้น ตัวอย่างเช่น แปลงสาธิตที่ 1 ณ สวนนายบุญมา นวมสุคนธ์ และแปลงสาธิตที่ 2 ณ สวนลิ้นจี่ 200 ปี เป็นต้น ทำให้มีผลผลิตที่ดี สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ด้วยนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพโดย วว.

ซึ่งมีจุดเด่น คือ สามารถทำให้ออกดอกได้เร็วกว่าลิ้นจี่ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมของต้น ทำให้ราคาจำหน่ายลิ้นจี่สูงกว่าเพราะออกก่อน และให้ปริมาณผลผลิตมากกว่าเพราะเตรียมต้นได้สมบูรณ์ ลดการหลุดร่วงเพราะออกผลผลิตก่อน ช่วยเลี่ยงฝนหลงฤดูที่เป็นสาเหตุทำให้ดอกและผลร่วง นอกจากนี้การให้ฮอร์โมนแปลงเพศจะทำให้ติดผลมากกว่า และการให้ฮอร์โมนขยายขนาดผลจะทำให้ผลโต เกรดและคุณภาพดี จำหน่ายได้ราคาสูงกว่า

"...จากการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่ง วว. มุ่งเน้นการถายทอดและให้ความรู้ แนวทาง และเป็นพี่เลี้ยงให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างต่อเนื่องพบว่า ผลผลิตลิ้นจี่มีปริมาณสูงขึ้น ผลมีขนาดโต เกรดและคุณภาพลิ้นจี่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอนาคต ทำให้รายได้มากขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาต่อหน่วยสูงขึ้น วว. พร้อมขยายผลการดำเนินงานในรูปแบบโมเดลนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจด้วยเกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพ..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศนก. วว. กล่าวว่า วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการทำแปลงสาธิตการผลิตลิ้นจี่ในแปลงเกษตรกรจำนวน 7 แปลง ซึ่งปลูกต้นลิ้นจี่ที่มีอายุ 50 - 100 ปี จำนวน 200 ต้น ทำการเตรียมต้นลิ้นจี่โดยการฉีดฮอร์โมนและสารบำรุงก่อนเข้าฤดูหนาวจำนวน 2 เดือน เพื่อให้ลิ้นจี่ออกใบอ่อนพร้อมกันและได้รับสารบำรุงทางใบจนมีความสมบูรณ์และมีใบแก่รอฤดูหนาว

โดยมีขั้นตอนกระบวนการผลิต ดังนี้

1) เมื่อลิ้นจี่เจอฤดูหนาวแล้วมีดอก ให้เกษตรกรฉีดพ่นฮอร์โมนเพิ่มดอกเพศผู้เพื่อเพิ่มการติดผล

 2) เมื่อลิ้นจี่ติดผล ให้เกษตรกรฉีดสารขยายขนาดผลและสารบำรุงเพิ่มขนาดของผลและลดการหลุดร่วงของผลลิ้นจี่

จากการปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ (โดยเปรียบเทียบต้นให้สารและไม่ให้สาร) ดังนี้ การออกดอกของต้นให้สารจะหนาแน่นกว่าประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ และต้นไม่ให้สารจำนวน 50 ต้น ไม่ออกดอกและผล 6 ต้น ส่วนในต้นให้สาร 150 ต้น ไม่ออกดอกและผล 1 ต้น แต่ในปีไม่หนาวต้นให้สารและไม่ให้สารจะออกดอกและผลแตกต่างมากกว่าปีที่มีอากาศหนาวยาวนานแบบปีนี้

นายบุญมา นวมสุคนธ์ เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ที่ผ่านมาประสบปัญหาการควบคุมการออกดอกของลิ้นจี่ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอทุกปี และมีผลผลิตต่ำ จากกการที่ วว. ได้นำนักวิจัยและความรู้มาอบรมและให้คำแนะนำต่างๆ ทำให้ขณะนี้ลิ้นจี่ติดผลมากและมีลูกดก กิ่งก้านแข็งแรงมาก ผลผลิตออกเยอะกว่าสวนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ดีใจและภูมิใจที่ได้รับคำแนะนำและนักวิจัยลงพื้นที่มาทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด หากเกษตรกรท่านอื่นๆ สนใจขอให้ติดต่อที่ วว. ได้เลย จะได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ โดยตัวเราก็ต้องปฏิบัติตามที่นักวิจัยแนะนำด้วยอย่างสม่ำเสมอ

ในโอกาสเดียวกันนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. พร้อมคณะนักวิจัย ได้มอบนวัตกรรมการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ "ชุดรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลิ้นจี่แบบเคลื่อนที่" ให้แก่ นายบุญมา นวมสุคนธ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตลิ้นจี่พันธุ์ค่อมและยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวต่อไป

โดย ศนก.วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ได้นาน 3 สัปดาห์ เนื่องจากแก๊สกำมะถัน (สารซัลเฟอร์) สามารถกำจัดโรคพืชที่ติดมากับผล มีกำลังผลิต 200 กิโลกรัม/ครั้ง ใช้เวลาการรมประมาณ 2 ชั่วโมง ประกอบด้วยตู้ทนกรดขนาด 120x120 เซนติเมตร สำหรับใช้บรรจุลิ้นจี่ และต่อท่อเข้ากับชุดเผากำมะถัน ซึ่งจะใช้กำมะถัน 300 กรัมต่อลิ้นจี่ 200 กิโลกรัม หลังจากการรม 2 ชั่วโมง แล้วดูดแก๊สกำมะถันออกไปบำบัด ในส่วนของระบบจะบำบัดด้วยด่างต่อไป

ทั้งนี้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีหน้าที่ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ ทั้งแบคทีเรีย (bacteria) ยีสต์ (yeast) และรา (mold) ใช้เป็นสารฟอกสีผลไม้สด เช่น ลำไย ลิ้นจี่ ปริมาณการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอาหารต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 214 (พ.ศ.2543) กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท ได้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
  • มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไวน์ มอก. 2089-2544 ได้กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร
  • องค์การอนามัยโลก ( WHO ) กำหนดค่าความปลอดภัยไว้ คือ ปริมาณที่ได้รับไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัม/คน/วัน

อนึ่ง จังหวัดสมุทรสงครามเป็นแหล่งผลิตลิ้นจี่ที่สำคัญเป็นอันดับ 1 ในภาคกลาง โดย "ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม" เป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ในปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกลิ้นจี่ทั้งสิ้น 1,920 ครัวเรือน รวมเนื้อที่การปลูกประมาณ 5,196 ไร่ แยกเป็นพื้นที่อำเภอเมือง 7 ไร่ อำเภออัมพวา 2,328 ไร่ และอำเภอบางคนที 2,861 ไร่

ลิ้นจี่หลังการเก็บเกี่ยวแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพผลผลิตและเอธิลีนไม่มีผลต่อการสุก หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า เป็นผลไม้ที่ไม่สามารถบ่มให้สุกได้ ดังนั้นการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่จึงควรเก็บเกี่ยวในระยะผลแก่พอดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยทั่วไปเกษตรกรจะใช้การเปลี่ยนสีของเปลือกเป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสินใจว่า จะเก็บเกี่ยวผลลิ้นจี่ได้หรือไม่ โดยจะสังเกตจากเปลือกของลิ้นจี่ เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวอมชมพู สีชมพูหรือสีแดง โดยเกณฑ์การเปลี่ยนสีจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ สภาพแวดล้อม และการดูแลรักษา ลิ้นจี่หลังการเก็บเกี่ยวแล้วต้องระมัดระวังตามกระบวนการเก็บเกี่ยวและการขนส่งอย่างถูกต้อง ในกรณีที่ไม่มีการรมด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผิวผลจะมีสีชมพู แดง หรือแดงเข้ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ เมื่อรมด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผิวผลอาจเป็นสีเหลืองจางถึงชมพู

คุณค่าทางโภชนาการของลิ้นจี่ ประกอบด้วย กรดอะมิโนที่เป็นโครงสร้างของโปรตีนได้แก่ ไทโรซีน แอสปาราจีน อะลานีน ทรีโอนีน วาลีน และสารประกอบไกลซีน น้ำมันจากเมล็ดลิ้นจี่มีสารประกอบ เป็นกรดไขมันที่สำคัญเช่น ปาล์มมิติก 12%, โอลิอิก 27% และไลโนเลอิค 11%

สอบถามรายละเอีย รับบริการหรือรับคำแนะนำปรึกษาจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9004 โทรสาร 0 2577 9004 E-mail : [email protected]

 

วว. โชว์นวัตกรรมเพิ่มผลผลิต/คุณภาพ ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมนอกฤดูกาล พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดสมุทรสงคราม