อนาคตของธุรกิจโทรคมนาคม

20 Apr 2023

อนาคตของธุรกิจโทรคมนาคมเคพีเอ็มจีเผยข้อมูลเชิงลึก 4 โมเดลธุรกิจโทรคมนาคมในอนาคต และขั้นตอนที่จะช่วยให้ผู้บริหารตอบโจทย์ธุรกิจอนาคต

อนาคตของธุรกิจโทรคมนาคม

สภาพตลาดในปัจจุบันสร้างความท้าทายต่อผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคม แม้ว่ารายได้จะสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ความสามารถในการทำกำไรกำลังถูกกดดันเนื่องจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐาน 5G เพื่อรองรับความต้องการใช้งานบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการใช้งาน 5G ที่หลากหลาย ทั้งนี้การแข่งขันดังกล่าวร้อนแรงขึ้นจากทั้งผู้ประกอบการหลักในอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการใหม่จากอุตสาหกรรมอื่น โดยความคาดหวังของลูกค้าและตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านกฎระเบียบส่งผลต่อความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมนี้

ในรายงานล่าสุดเรื่อง Future of telco เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ได้พูดคุยกับผู้มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางมากกว่า 300 รายในองค์กรโทรคมนาคมทั่วโลก เพื่อระบุสัญญาณสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับสิ่งที่เคพีเอ็มจีเชื่อว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจในอนาคตสำหรับองค์กรโทรคมนาคมที่สำคัญ 4 รูปแบบ ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดและเติบโตในโลกแห่งความเป็นจริงใหม่ (New reality) องค์กรต่างๆ ควรพิจารณาถึงกลยุทธ์ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงและสนับสนุนหน่วยงานทั้งส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนงานสนับสนุน เพื่อช่วยให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) สามารถสร้างมูลค่าที่แท้จริงให้กับองค์กรได้

สัญญาณของการเปลี่ยนแปลง

ในขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน โดยเคพีเอ็มจี ได้ระบุและเจาะลึกถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดของธุรกิจซึ่งผู้บริหารควรพิจารณา ดังนี้

  1. โมเดลธุรกิจแบบดั้งเดิมกำลังถูกท้าทาย
  2. ความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
  3. ไฮเปอร์สเกลเลอร์ (ศูนย์ข้อมูลดิจิทัลที่ใช้การประมวลผลขนาดใหญ่) ที่มีการแข่งขันสูง
  4. ภาวะถดถอยทั่วโลกที่อาจเกิดขึ้น
  5. เทคโนโลยีสามารถสร้างโอกาสและภัยคุกคามใหม่ๆ
  6. การบรรลุเป้าหมายด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, social and governance: ESG)
  7. ธุรกิจโทรคมนาคมไม่สามารถหลีกเลี่ยงกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น

"ธุรกิจโทรคมนาคมกำลังถูกท้าทายจากปัจจัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของตลาด ที่จะเป็นตัวเร่งให้ผู้บริหารของบริษัทโทรคมนาคมต้องปรับโมเดลธุรกิจจาก "Telco" ไปสู่ "TechCo" เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวเอาไว้"

ศุภเชษฐ คุณาลักษณ์กุล

หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมเคพีเอ็มจี ประเทศไทย

กลยุทธ์ที่สำคัญ: โมเดลธุรกิจโทรคมนาคมในอนาคต

สัญญาณของการเปลี่ยนแปลงได้สร้างแรงกดดันต่อโมเดลธุรกิจโทรคมนาคมแบบดั้งเดิม เราจึงได้เห็นกลยุทธ์ที่สำคัญใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในความท้าทายหลักของผู้บริหารธุรกิจโทรคมนาคมคือการตัดสินใจว่าจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคตอย่างไร

  1. เพิ่มการลงทุนด้านโครงข่าย: กุญแจสู่ความสำเร็จในโมเดลธุรกิจนี้ คือบริษัทโทรคมนาคมต้องเพิ่มการเชื่อมโยงและโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐานหลักเป็นทวีคูณ โดยบริษัทต้องคงไว้ในสิ่งที่สามารถทำได้ดีอยู่แล้ว และมุ่งเน้นการให้บริการที่สามารถเชื่อมต่อทั้งปริมาณ ความเร็ว และความพร้อมใช้งานที่สูงขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานหรือธุรกิจเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามโมเดลนี้มีแนวโน้มที่การให้บริการจะกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commoditization) ซึ่งความสามารถในการทำกำไรจะถูกกดดันอย่างต่อเนื่องโดยที่โครงข่ายไม่มีการเติบโต ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนด้านโครงข่ายที่ลดลงจะเป็นตัวดึงดูดผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา ทั้งนี้ผู้ประกอบการด้านโครงข่ายควรต้องหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตและเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของข้อมูลในระบบโครงข่าย (Network Traffic) เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต
  1. เน้นการใช้ดิจิทัลสำหรับงาน Front-end: แบบจำลองบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ Mobile Virtual Network Operator (MVNO) เป็นกลยุทธ์สำหรับบริษัทโทรคมนาคมที่มุ่งเน้นงานส่วนหน้าของการขายและการตลาด และให้งานโครงข่ายและบริการส่วนใหญ่ไปอยู่กับผู้ให้บริการรายอื่น ทั้งนี้ MVNO และโมเดลสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่มีคลื่นความถี่ และไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง หรือ "Asset-light" ช่วยให้บริษัทโทรคมนาคมสามารถเพิ่มหรือลดขนาดได้ตามปริมาณและอุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรโดยรวม ลดต้นทุน และขับเคลื่อนธุรกิจได้ง่ายขึ้น ความท้าทายของโมเดลนี้ คือ ต้องรักษาจำนวนผู้ใช้งานเอาไว้ให้ได้ ในขณะเดียวกัน การให้บริการก็กำลังค่อยๆ กลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ความสำเร็จในการใช้ดิจิทัลสำหรับงาน Front-end อาจต้องอาศัยความร่วมมือและพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ และปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าได้
  1. เสริมประสิทธิภาพบริการในรูปแบบ Managed Services: โมเดลธุรกิจ Managed Services มุ่งเน้นไปที่การยกระดับห่วงโซ่คุณค่า โดยการนำเสนอชุดโซลูชั่นแบบสำเร็จรูปแก่ลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ซึ่งจะทำให้บริษัทโทรคมนาคมสามารถเพิ่มปริมาณและทราฟฟิกไปยังโครงข่ายของตน โดยโมเดลนี้บริษัทสามารถนำเสนอนวัตกรรมที่หลากหลาย โดยในด้าน B2B บริษัทโทรคมนาคมได้มีการนำเสนอโซลูชั่นต่างๆ เช่น บริการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านไอที และบริการบริหารจัดการเครือข่าย เช่น Network as a Service (NaaS) ทั้งนี้ผู้ให้บริการบางแห่งได้ปรับแต่งบริการเหล่านี้เพื่อสร้างชุดโซลูชั่นที่มีลักษณะเฉพาะ โดยเน้นไปที่การเชื่อมต่อโครงข่ายสำหรับธุรกิจดูแลสุขภาพ ธนาคาร ประกันภัย การผลิต และการค้าปลีก อย่างไรก็ตาม ความสามารถขององค์กรในการเชื่อมโยงกันมากขึ้นระหว่างส่วนงานสนับสนุน ส่วนกลาง และส่วนหน้า จะสามารถขับเคลื่อนความสำเร็จและความยั่งยืนของโมเดลนี้ได้ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการคิดค้นบริการใหม่ๆ การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจดีขึ้น การสร้างกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นผ่านสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีแบบดิจิทัลมากขึ้น
  1. ก้าวกระโดดจากบริษัทโทรคมนาคม (Telco) สู่บริษัทเทคโนโลยี (Techco): สำหรับบริษัทโทรคมนาคมหลายแห่ง กลยุทธ์ที่สำคัญหลักคือการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในฐานะบริษัทเทคโนโลยี และหลายบริษัทพยายามเรียกตัวเองว่า "บริษัทเทค" เพื่อหนีภาพจำแบรนด์ดั้งเดิมในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐาน และเปลี่ยนภาพลักษณ์ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่ช่วยให้บริษัทของตนก้าวเข้าสู่กลุ่มเทคโนโลยี แต่บริษัทเหล่านี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้หากไม่มีพันธมิตร เช่น ไฮเปอร์สเกลเลอร์ หรือผู้ให้บริการโซลูชั่น/แอปพลิเคชั่นอื่นๆ กล่าวคือ บริษัทโทรคมนาคมกำลังรวมเครือข่ายและแอปพลิเคชั่น/โซลูชั่นจากพันธมิตรเพื่อช่วยให้ตนเข้าถึงการสร้างแบรนด์บริษัทเทค สิ่งนี้ทำให้ความต่างระหว่างธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจเทคโนโลยีเริ่มน้อยลง เพราะไฮเปอร์สเกลเลอร์ได้พัฒนากลยุทธ์ด้านนวัตกรรมและขยายขนาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน บริษัทโทรคมนาคมรุ่นเก่าก็ต้องยอมรับการปรับตัวหากต้องการอยู่รอดต่อไปในอนาคต

ทำธุรกิจโทรคมนาคมให้ประสบความสำเร็จ

ข้อควรพิจารณาที่สำคัญที่จะช่วยให้บริษัทโทรคมนาคมเติบโตได้เร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  1. มองหาสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ: แนวคิด "จากข้างนอก สู่ข้างใน (Outside-in)" เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างธุรกิจโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยการค้นหาและมองออกไปภายนอกองค์กรและนอกอุตสาหกรรมเพื่อช่วยให้มั่นใจว่าบริการที่นำเสนอนั้นสอดคล้องกับประสบการณ์ที่ดีที่สุดของลูกค้า
  2. ทำงานแบบ Agile: แบ่งการเปลี่ยนแปลงออกเป็นลำดับขั้น และดำเนินการตามนั้น โดยไม่ลืมที่จะกลับไปประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ตามแนวทาง "ทดสอบและเรียนรู้ (Test-and-learn)"
  3. สร้างความยืดหยุ่น (Resilience): รับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในปัจจุบันด้วยความยืดหยุ่นและความมุ่งมั่นตั้งใจ และเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด ลองผิดลองถูก พลาดให้เร็ว และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
  4. รักษาไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์: ในขณะที่การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่น Al และระบบอัตโนมัติ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า โดยต้องระลึกอยู่เสมอว่าจะต้องรักษาประสบการณ์ "จริง" เอาไว้ด้วย
  5. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ: หาโอกาสทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านระบบคลาวด์ การใช้ Machine learning และ Data science ขั้นสูง

เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล

เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทที่ให้บริการตรวจสอบบัญชี ภาษี และที่ปรึกษาธุรกิจ เครือข่าย เคพีเอ็มจี ดำเนินงานใน 143 ประเทศ และเขตการปกครอง โดยในปี FY22 มีหุ้นส่วนและพนักงานมากกว่า 265,000 คน ในบริษัทสมาชิกแต่ละแห่งภายในเครือข่าย เคพีเอ็มจี ทั่วโลก บริษัท เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งเป็นนิติบุคคลที่แตกต่างกัน และแยกจากกันตามกฎหมาย

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ เครือข่ายเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัท เอกชน จำกัด ในอังกฤษ

อนาคตของธุรกิจโทรคมนาคม