วว. /วช. /มรภ. ประสบผลสำเร็จสร้างโมเดลขับเคลื่อนยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยว มาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทย

23 Dec 2022

ปัญหาหลักของผลิตภัณฑ์ชุมชน คือ มาตรฐานหรือการรับรองคุณภาพ หากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาชุมชนไม่มีการรับรองคุณภาพ จะส่งผลให้การจำหน่ายสามารถทำได้ในวงจำกัด ดังนั้นการยกระดับสินค้าชุมชนโอทอปด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการในชุมชนที่มีสินค้าอยู่แล้ว มีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นยิ่งที่ต้องนำระบบมาตรฐานคุณภาพไปช่วยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการท่องเที่ยว เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

วว. /วช. /มรภ. ประสบผลสำเร็จสร้างโมเดลขับเคลื่อนยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยว มาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทย

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญและตอบโจทย์ดังกล่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงจัดทำ "โครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ." ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเป็นการร่วมผนึกกำลังของ โครงการวิจัยการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่นเส้นทางท่องเที่ยวอ่าวไทย อันดามัน และพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏภูมิภาคภาคใต้ และโครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ. ดำเนินการโดย วว. ซึ่งมี นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารองค์กร วว. เป็นหัวหน้าโครงการฯ มีพื้นที่ดำเนินโครงการครอบคลุม 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี ลำปาง ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช สตูล ปัตตานี นครปฐม อยุธยา และกรุงเทพฯ

การดำเนินงานมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เด่นที่เป็นผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นของจังหวัด ครอบคลุมกลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก ผ้าและเครื่องแต่งกาย  และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1) เพื่อให้มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ ได้มาตรฐาน เป็นที่เชื่อมันแก่นักท่องเที่ยว

2) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีมาตรฐานปลอดภัย

3) บูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) จำนวน 38 แห่ง ในการใช้ประโยชน์องค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย นวัตกรรม และมาตรฐานสู่การใช้ประโยชน์ทั้งภาคการผลิตและบริการ

โดยมีเป้าหมายการพัฒนา (Inclusive Growth) ในด้านเศรษฐกิจ (มูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง) ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (การจ้างงานชุมชน คุณภาพชีวิตดีขึ้น และลดมลพิษ) รวมทั้งกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชนและขยายผลความสำเร็จสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป

วว. และ วช. ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ. ผ่านโมเดลการดำเนินงาน 4 รูปแบบ คือ

1) สร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วมกับ มรภ. และต่อยอดการยกระดับมาตรฐานสินค้าของผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาจาก มรภ.

2) จัดอบรมด้านระบบและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 

3) ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (เพื่อสนับสนุนการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน มผช. หรือ อย.) และยกระดับมาตรฐานการผลิตด้วยการตรวจประเมินสถานที่ผลิตและการรับรองระบบมาตรฐานการผลิต 

4) ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ได้มาตรฐาน ด้วยการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยว ตามมาตรฐานกรมการท่องเที่ยวและมาตรฐานฟาร์ม ตามมาตรฐาน GAP/ เกษตรอินทรีย์

การพัฒนาเชิงพื้นที่โดยบูรณาการเชื่อมโยงกับ มรภ. ภายใต้การดำเนินโครงการ  บทบาทของ มรภ. ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์  ส่วน วว. ดำเนินการบริการและวิเคราะห์ทดสอบ ตามเกณฑ์มาตรฐานและวิเคราะห์ตามโภชนาการ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานเพื่อเข้าสู่ตลาด

จากการดำเนินงานของ วว. และ มรภ. พบว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่ยังประสบปัญหาในการนำผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์  อาทิ   ผลิตภัณฑ์ไม่มีมาตรฐาน อย.รองรับ    ขาดเทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์   การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้จำนวนมาก   ขาดการควบคุมคุณภาพการผลิต   ขาดกระบวนผลิตที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม    คุณภาพวัตถุดิบไม่คงที่   และขาดเครื่องจักร อุปกรณ์ทุ่นแรงในการผลิต  และสถานที่ผลิตยังไม่ได้มาตรฐาน  เป็นต้น

จากปัญหาดังกล่าว วว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับ  มรภ. สามารถดำเนินโครงการจนประสบผลสำเร็จ ทำให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม  ดังนี้  จัดทำและอบรมด้านระบบและมาตรฐาน  จำนวน  7  หลักสูตร  อาทิ ระบบคุณภาพการผลิตอาหาร   มาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร  มาตรฐานสินค้าเกษตร  และมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว  เป็นต้น  ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้รับการวิเคราะห์ ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (มผช. และอย.) จำนวน  27  ผลิตภัณฑ์ อาทิ  ไอศครีมรสมะพร้าว  กล้วยอบหนึบ  ชาบัวแดง  น้ำสัปประรด  น้ำกุหลาบ  หอยลายผัดกระเพรา และสบู่ถ่านชาโคล์  เป็นต้น  มีการเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับรองระบบคุณภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการ  (Primary GMP /GMP)  จำนวน  21 ราย อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวกลุ่มลูกไม้คีรีวง จ.นครศรีธรรมราช   กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและโฮมสเตย์บ้านเชียงแหว  จ.อุดรธานี    ไอติมโบราณลุงชวนตลาดน้ำคลองลัดมะยม กรุงเทพฯ  กล้วยอบคุณแม่  เป็นต้น  ผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐาน อย. จำนวน  3  รายการ  ผลิตภัณฑ์จากจังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้แก่ จำปาดะกวน   ทุเรียนกวนห่อกาบหมาก   ลูกหยีสามรส  และผู้ประกอบการโอทอปอยู่ระหว่าง ยื่นขอการรับรองระบบคุณภาพการผลิต ร้อยละ 30 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินงานบูรณาการเครือข่าย มรภ. และ วว. เป็นอีกผลลัพธ์จากการให้ทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจาก วช. โดยการบูรณาการจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับความสามารถ เข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มุ่งพัฒนาต่อยอดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการยกระดับการพัฒนาด้านมาตรฐานการท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานและห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการท่องเที่ยว เสริมสร้างความเข้มแข็งและขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนของประเทศ การดำเนินงานโครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ. เป็นความภาคภูมิของ วว. ที่ได้นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เหมาะสม สู่การนำไปใช้ประโยชน์ให้กับประเทศ และเป็นโมเดลความสำเร็จในการขยายผลไปสู่ทุกภูมิภาคของไทยในระยะเวลาอันใกล้ต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 www.tistr.or.th E-mail : [email protected] Line@TISTR IG :tistr_ig

นำเสนอโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร วว. โทร. 0 2577 9360 E-mail : [email protected] Line@TISTR IG : tistr_ig