สกสว.หนุนศึกษาความต้องการในพื้นที่ภาคเหนือ เร่งแก้ปัญหาหมอกควันและภัยพิบัติด้านอากาศ

09 Jan 2023

โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อคืนข้อมูลผลการศึกษาความต้องการระดับพื้นที่ภาคเหนือ วันที่ 5 มกราคม 2566 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอที่มาและผลการจัดทำรายงานความต้องการระดับพื้นที่จากโครงการปีที่ 1  รวมถึงกระบวนการจัดทำข้อมูลเพื่อสำรวจความต้องการระดับพื้นที่กับกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และแผนภาพการทำงานของกลไกระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ระดับประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทย ด้วยการรับทราบความต้องการในพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สามารถตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง ซึ่ง สกสว.จะนำข้อมูลในพื้นที่มาออกแบบแผน ววน. ด้านต่าง ๆ ให้ตรงเป้าหมายความต้องการของพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ใช้ความรู้ อีกทั้งกลไกการทำงานของ ววน.นี้ยังทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่ากองทุนส่งเสริม ววน. ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคอย่างแท้จริง

สกสว.หนุนศึกษาความต้องการในพื้นที่ภาคเหนือ เร่งแก้ปัญหาหมอกควันและภัยพิบัติด้านอากาศ

ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และคณะทำงานระดับภาคทั้ง 6 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก ใต้ และใต้ชายแดน จาก 8 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ภายใต้กรอบแนวคิดความยั่งยืนที่สำคัญครอบคลุมทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพ ความยุติธรรม หุ้นส่วนและกลไกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในระดับพื้นที่ ซึ่งล้วนสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับพื้นที่ โดยเป้าหมายปลายทางของโครงการ คือ สามารถระบุความต้องการและช่องว่างความรู้ในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ใหม่มาอุดช่องว่างเหล่านั้น และสร้างเครือข่ายที่เป็นกลไกทำงานของ ววน. กระตุ้นให้เกิดการใช้ความรู้ นำข้อมูล ข้อเสนอจากพื้นที่เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจที่พื้นที่มีส่วนร่วมแบบล่างขึ้นบน อีกทั้งยังสนับสนุนให้นำกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้จริงในพื้นที่

การศึกษาความต้องการระดับพื้นที่ภาคเหนือ แบ่งเป็น 2 กลุ่มจังหวัด 4 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน กลุ่ม (1) ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน และกลุ่ม (2) จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา และจังหวัดแพร่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างกลุ่ม (1) จังหวัดตาก จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์กลุ่ม (2) จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร และจังหวัดอุทัยธานี ผลลัพธ์จากโครงการปีที่ 1 ทั้งมิติเศษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พบว่าภาคเหนือมีประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วนมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ปัญหาหมอกควัน ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบการเกษตรไม่เอื้อต่อความมั่นคงทางอาหาร การถือครองที่ดิน และการขาดระบบการจัดการร่วมในการพัฒนาพื้นที่ป่าและแก้ปัญหาไฟป่า

จากการศึกษาปัญหาและความต้องการข้างต้นนำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการและพัฒนาตนเอง ประกอบด้วย 1) การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้ชุมชนออกแบบเศรษฐกิจ และจัดการศึกษาเรียนรู้ ทรัพยากร และปัญหา หรือพัฒนาชุมชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างสอดคล้องตามบริบท 2) ปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ และเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อการพัฒนามิติต่าง ๆ ของชุมชน 3) การปรับโครงสร้างการดำเนินงานโดยการสร้างกลไกในชุมชนท้องถิ่นให้มีบทบาทหลักในการพัฒนาที่มีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนน 4) พัฒนาคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้มีขีดความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วม ตลอดจนการพัฒนาแผนงานและโครงการเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพัฒนาสังคม และการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 5) การสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และวิถีของชุมชน เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของชุมชนสู่การจัดการและพึ่งพาตนเองด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากร และอื่น ๆ

ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า เวทีนี้ทุกคนคือตัวแทนประชากรภาคเหนือ มีความพยายามที่จะดึงทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ การรับฟังเสียงที่กระจัดกระจายในพื้นที่ของ สกสว. เป็นเรื่องใหญ่ของฝั่งที่มีความต้องการและใช้ประโยชน์จากงานวิจัย "ณ วันนี้ภาคส่วนต่าง ๆ มีคำถามหลายเรื่อง แต่ปัญหาทั้งหมดใครจะเป็นผู้ให้คำตอบ งานวิจัยหรือคำตอบที่ได้ตรงกับคำถามหรือความต้องการของพื้นที่หรือไม่ ปัญหาบางเรื่องผู้ใช้ประโยชน์อาจเป็นคนสร้าง ชาวบ้านแก้โจทย์หรือหาคำตอบเอง หรือร่วมทำงานกับนักวิชาการได้หรือไม่ การพัฒนาระบบ ววน. เป็นการยกระดับสติปัญญาของคนภาคเหนือ แต่เมื่อเสนอไปแล้วจะมีอะไรต่อเนื่อง เป็นโจทย์ร่วมที่จะต้องหารือกันเพื่อหาคำตอบจากงานวิจัยและนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน"

สกสว.หนุนศึกษาความต้องการในพื้นที่ภาคเหนือ เร่งแก้ปัญหาหมอกควันและภัยพิบัติด้านอากาศ