ดร. ลัทธจิตร มีรักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดสมุทรสงครามด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งจัดโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โอกาสนี้ ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินโครงการว่า เพื่อนำ วทน. ถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมสู่ภูมิภาค อันจะก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตร ให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่สร้างรายได้ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และเป็นการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศจากสินค้าเกษตรคุณภาพดี และผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมจากวัตถุดิบท้องถิ่น เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศที่เข้มแข็งและยั่งยืน gเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ณ ศาลาวัดบางเกาะเทพศักดิ์ ต.แควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสงครามเป็นหนึ่งจังหวัดในโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมสู่ภูมิภาค ก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร และสินค้าแปรรูป พร้อมกระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมและพัฒนาในภาคการเกษตร การพัฒนาต่อยอดโครงสร้างธุรกิจการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างเกษตรคุณภาพสูงและขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ตลอดจนความหลากหลายของสินค้าเกษตร
"...การจัดงานในวันนี้เป็นการยืนยันถึงความตั้งใจของทุกภาคส่วน ทั้ง วว. สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม องค์การบริหารส่วนตำบล และเกษตรกรสวนลิ้นจี่ ในการให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมรับการอบรม เพื่อนำองค์ความรู้จากโครงการนี้ไปพัฒนาต่อยอดในด้านนวัตกรรมการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวและระบบการขนส่ง เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพของสินค้าทางการเกษตร และสามารถกระจายสินค้าคุณภาพที่ดี..." ดร. ลัทธจิตร มีรักษ์ กล่าว
นางสมพิส ทองดีนอก เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ลิ้นจี่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูก 1,920 ครัวเรือน รวมพื้นที่ประมาณ 5,196 ไร่ แยกเป็น อ.เมือง 7 ไร่ อ.อัมพวา 2,328 ไร่ และ อ.บางคนที 2,861 ไร่ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ปลูกลิ้นจี่ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาส่งเสริม แก้ปัญหาให้ลิ้นจี่ในพื้นที่สมุทรสงครามมีผลผลิตที่ดี สามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้น เชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี คือเหตุและผลที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ประกอบด้วยการบรรยายและการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) วว. ดังนี้ 1) การใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงในระบบเกษตรปลอดภัย 2) การขยายชีวภัณฑ์รูปแบบเหลวในถังขยายจุลินทรีย์ โดย ดร. ตันติมา กำลัง นักวิจัยอาวุโส 3) นวัตกรรมการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ โดย ดร.สรวิศ แจ่มจำรูญ นักวิจัยอาวุโส และ 4) นวัตกรรมการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อมจังหวัดสมุทรสงคราม โดย ดร. กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส นอกจากนี้ วว. ยังได้นำผลงานวิจัยพัฒนาในโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดสมุทรสงครามฯ จัดแสดงนิทรรศการ พร้อมให้ความรู้และคำแนะนำปรึกษาแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมงาน ในโอกาสเดียวกันนี้ ผู้ว่าการ วว. ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผอ.ศนก. และดร.กุศล เอี่ยมทรัพย์ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าแปลงสาธิตการปลูกลิ้นจี่พันธุ์ค่อมโดยใช้เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของ วว. ด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit