บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด จับมือศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) และผู้เชี่ยวชาญด้าน Lean, Logistics, Digital Transformation มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมวิจัยเจาะลึกกระบวนการผลิตน้ำตาล ผ่านการใช้ Value Stream Mapping (VSM), ERP, IoT และ Data Analytics ค้นหาปัญหาหลักในกระบวนการผลิตที่มีผลกระทบสูงต่อองค์กร รวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด เชิงลึกทุกกระบวนการ มาวิเคราะห์และเพิ่มคุณค่าด้วยการประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัล และโซลูชันที่เหมาะสมในการพัฒนากระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม เพื่อส่งมอบน้ำตาลที่มีคุณภาพสูงสุดสู่ผู้บริโภค โดยเลือกโรงงานผลิตน้ำตาลที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นห้องวิจัยเชิงปฏิบัติการ จากความรู้และโซลูชันที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ จะนำไปต่อยอดเป็นความรู้ทางวิชาการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยสามารถทำ Digital Transformation ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ. ดร. กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ มจธ. และหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ความท้าทายของโรงงานผลิตน้ำตาล คือ ความต่อเนื่องและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงที่สุด โดยทุกกระบวนการสามารถส่งผลกระทบซึ่งกันและกันทั้งเชิงบวกและเชิงลบ สำหรับกรณีโรงงานผลิตน้ำตาลที่จังหวัดสิงห์บุรี ของมิตรผล การทำ Value Stream Mapping (VSM) หรือ แผนที่สายธารคุณค่า นับว่าเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการทำ Digital Transformation ของโรงงานซึ่งมีการดำเนินการมาบ้างแล้ว การรวบรวมข้อมูลทุกกระบวนการอย่างละเอียด ช่วยฉายภาพให้เห็นทั้งระบบและตลอดโซ่อุปทาน ทำให้เห็นแก่นของปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้นักวิจัย สร้างโซลูชันที่ตอบโจทย์ปัญหา ช่วยให้การนำดิจิทัลมาใช้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร
นายอรุณ หัตถะรัชต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงาน Digital & Technology Transformation บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่ามิตรผลให้ความสำคัญกับการทำดิจิทัลมาหลายปี และนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือเชื่อมต่อกระบวนการทำงานทุกภาคส่วนให้ทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูล หรือ Big Data จากทุกภาคส่วนของธุรกิจ ในกลุ่มบริษัทมาวิเคราะห์ โดยการทำ Data Analytics ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรพัฒนาได้อย่างเข้มแข็ง
"คนส่วนใหญ่จะรู้จักมิตรผล ว่าเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำตาล แต่ในความเป็นจริงแล้วเรามีธุรกิจต่อเนื่องมากมายที่เกิดจากการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือ Value Creation ให้กับ by products จากกระบวนการผลิตน้ำตาล เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน ที่นำกากอ้อยและใบอ้อยมาเป็นเชื้อเพลงให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล ธุรกิจเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ ทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกัน หากสามารถนำข้อมูลกระบวนการทำงานทั้งหมดมาวิเคราะห์ ก็จะช่วยให้ สามารถวางแผนการทำงานเพื่อส่งเสริมกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงที่สุด เชื่อว่าการทำ Data Analytics ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นอาวุธสำคัญของธุรกิจที่สามารถพาองค์กรให้เติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว" นายอรุณ กล่าว
นายอรุณ หัตถะรัชต์ ยังเสริมอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทมิตรผลได้มีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาของอุตสาหกรรมและขององค์กรด้วย การได้ทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยจาก มจธ. เพื่อเข้ามาเสริมด้าน Data Analytics and remote sensing, predictive maintenance จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้องค์ความรู้ใหม่ๆเพิ่มชึ้น
รศ. ดร. เจริญชัย โขมพัตราภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Industrial Transformation และ Digital Analytics นักวิจัยร่วมในโครงการครั้งนี้ กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นการวิเคราะห์ Lean ชี้เป้าปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลจำนวนมหาศาลผ่าน Data Analytics ขั้นต่อไปคือการระบุประเด็นและปรับเปลี่ยนการทำ Transformation ให้เหมาะสม รวมถึงการหาโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาขององค์กรทั้งระบบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และตรงจุดตรงเป้ามากที่สุด และข้อมูลเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่า นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย
"นอกจากนี้ ไม่เพียงการพัฒนากระบวนการทำงานกับภาคเอกชน ให้อุตสาหกรรมไทยพร้อมแข่งขัน เติบโตอย่างมั่นคง หัวใจสำคัญอีกข้อของการทำวิจัยร่วมกับเอกชน คือ ทีมนักวิจัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ประสบการณ์ตรงใหม่ๆ ได้เห็นปัญหาจากภาคปฏิบัติและตั้งโจทย์จากปัญหาจริง เพื่อจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดให้นักศึกษา แบ่งปันประสบการณ์จริงให้กับผู้เรียน เป็นการเสริมความรู้ใหม่ๆ สู่ภาคการศึกษาไทย อัปเดตปัญหาของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปตามพลวัตรตลอดเวลา เพิ่มความสามารถให้กับนักวิจัยไทย ทั้งนี้ การได้โอกาสทำงานร่วมกับภาคเอกชนจึงเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของนักการศึกษายุคปัจจุบันที่สามารถช่วยภาคธุรกิจไปพร้อมๆ กับพัฒนาทางวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล"
รศ. ดร. เจริญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า "การทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมนั้นใช้เวลา และการหานักวิชาการที่พร้อมทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมก็มีความสำคัญ แต่ด้วยศักยภาพของนักวิจัยไทยที่มีผลงานในระดับโลก หากมองจากผลงานตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำต่างๆ เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า"
ด้าน ผศ. ดร. กานดา บุญโสธรสถิตย์ เสริมว่า โครงการวิจัยร่วมกับบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด คือการเข้าไปสนับสนุนภาคเอกชนให้ทำ Digital Transformation ได้อย่างไร้รอยต่อ และชี้ให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ตระหนักว่า การทำ Digital Transformation เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งการนำเครื่องมือดิจิทัล และโซลูชันที่เหมาะสมเข้ามาใช้ นอกจากการจัดการปัญหาต่างๆ แบบอัตโนมัติและเรียลไทม์ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตให้มากขึ้น ช่วยปรับรูปแบบการใช้แรงงานคนให้เหมาะสม ลดต้นทุนระยะยาว เพิ่มผลิตภาพแรงงาน (สร้างผลผลิตมากขึ้น และใช้ทรัพยากรน้อยลง) ไปจนถึงสร้างแผนองค์กรได้ชัดเจนมากขึ้นในอนาคต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit