อีวาย ประเทศไทยชี้ องค์กรที่ใช้ Data Centricity จะแข็งแกร่งในยุคดิจิทัล

23 Jun 2022

  • 53% ของผู้บริหารระดับสูงระบุว่า Data and analytics คือเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ที่จะลงทุนในอีก 2 ปีข้างหน้า
  • เงินลงทุนสูงและการขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะคือความท้าทายอันดับต้นๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานตามแผน
  • เทคโนโลยีคือพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง แต่คนคือศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จ
อีวาย ประเทศไทยชี้ องค์กรที่ใช้ Data Centricity จะแข็งแกร่งในยุคดิจิทัล

ผู้นำองค์กรลงทุนในเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการตัดสินใจให้องค์กรได้ประโยชน์สูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน และสร้างการมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์อย่างไร้รอยต่อ เพื่อเตรียมองค์กรให้พร้อมกับยุคกลยุทธ์ด้านข้อมูล

การลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานผลการศึกษาของอีวาย EY Tech Horizon 2022 ที่สำรวจความเห็นผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกมากกว่า 1,600 ราย ในเจ็ดกลุ่มอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนองค์กรโดยใช้เทคโนโลยี ซึ่ง 53% ของผู้บริหารเปิดเผยว่า Data and analytics คือเทคโนโลยีอันดับแรกที่จะนำมาใช้ในองค์กรในช่วง 2 ปีข้างหน้า นอกจากนั้น ผู้บริหารระบุว่า โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์  (49%), Internet of things: IoT (42%) และ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) (35%) คือเทคโนโลยีพื้นฐานที่ผู้บริหารกำลังใช้วางรากฐานดิจิทัลซึ่งจะสร้างความคุ้มค่าต่อการลงทุนด้านเทคโนโลยี

นริศรา พัตนพิบูล หัวหน้าสายงานบริการที่ปรึกษาธุรกิจ อีวาย (EY) ประเทศไทย กล่าวว่า

"ในประเทศไทย เราเห็นการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นมาก หลายบริษัทลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างความได้เปรียบให้กับองค์กร"

"องค์กรที่มีข้อมูลเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น สามารถวัดผลการปฏิบัติงานและการมีส่วนร่วมของพนักงานได้ชัดเจนขึ้น และที่สำคัญ ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น บริษัทที่ใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว"

ในขณะที่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงองค์กร แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ จากรายงานผลการศึกษา EY Tech Horizon 2022 ความท้าทายห้าอันดับแรกประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมีต้นทุนสูง (35%) กฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่ซับซ้อน (27%) ความซับซ้อนของการเชื่อมต่อหลายระบบให้ทำงานประสานกัน (25%) ความยากในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเดิม (24%) และความซับซ้อนในการจัดการระบบนิเวศทางดิจิทัล (21%)

"ความท้าทายหลักของการมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีข้อมูลเป็นศูนย์กลาง คือความซับซ้อนของการเชื่อมต่อระบบข้อมูลต่างๆ มากมายเข้าด้วยกัน ผู้นำองค์กรเข้าใจถึงอุปสรรคนี้ดี แต่มันคุ้มค่าที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มากกว่ารอเวลาให้กลายเป็นองค์กรที่ล้าสมัยและล้าหลังคู่แข่ง" นริศรา กล่าวเพิ่มเติม

ทรัพยากรบุคคล คือกุญแจขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้ประสบความสำเร็จ

ในขณะที่ข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ ทรัพยากรบุคคลคือผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กรเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย องค์กรจึงจำเป็นต้องมีพนักงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยีและมีประสิทธิภาพสูงเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่น จากรายงานผลการศึกษา EY Tech Horizon 2022 การขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะเป็นข้อจำกัดหลักของธุรกิจที่ต้องการมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีข้อมูลเป็นศูนย์กลางรายงานยังระบุต่อว่า ความท้าทายอันดับต้นๆ ของการสร้างและรักษาพนักงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยีคือ โปรแกรมฝึกอบรมเพิ่มทักษะที่ขาดประสิทธิภาพ (30%) การรักษาพนักงานที่มีทักษะขององค์กร (29%) และค่าตอบแทนและสิ่งจูงใจที่ไม่เพียงพอ (26%) เมื่อพิจารณาถึงความท้าทายดังกล่าว ผู้บริหาร 70% เปิดเผยว่า พวกเขามุ่งเน้นไปที่การเพิ่มทักษะพนักงานของตนมากว่าที่จะดึงพนักงานมาจากองค์กรอื่น

"ทักษะและความสามารถของพนักงานที่มีอยู่ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการเปลี่ยนแปลงได้ หากต้องการเป็นองค์กรที่มีข้อมูลเป็นศูนย์กลาง องค์กรจำเป็นต้องสร้างพนักงานที่มีทักษะเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีข้อมูล การเพิ่มทักษะให้พนักงานและการรักษาพนักงานไว้จะเป็นกลยุทธ์หลักที่ใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ไม่มีรูปแบบสำเร็จรูปสำหรับทุกองค์กร การเริ่มต้นควรเริ่มจากการสร้างทักษะให้พนักงานจาการใช้งานจริง โดยการสร้างทีมที่ผสมผสานความรู้ทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการใช้งานข้อมูล จากนั้น กำหนดเป้าหมายให้ทีม และผู้บริหารต้องให้การสนับสนุน พนักงานจะได้รับประสบการณ์ตรง เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากการทำงานจริง ทำให้มีความรู้ทางด้านดิจิทัลมากขึ้น ทำงานได้อย่างมีคุณค่าและมีกลยุทธ์มากขึ้น" นริศรา กล่าว

การมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีข้อมูลเป็นศูนย์กลางต้องมีกลยุทธ์ทางธุรกิจและกลยุทธ์ทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม นอกจากนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ตลอดจนการสนับสนุนจากผู้นำที่ส่งเสริมให้องค์กรมีวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

นริศรา สรุปปิดท้ายว่า "กลยุทธ์ด้านข้อมูลจะสร้างการเติบโตให้องค์กรแบบก้าวกระโดด แต่พนักงานคือผู้ขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง องค์กรที่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างการนำดิจิทัลมาปรับใช้และสร้างประสบการณ์การใช้งานให้กับพนักงาน ด้วยการส่งเสริมทักษะและความรู้เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลให้กับพนักงานทุกฝ่ายในองค์กร จะประสบความสำเร็จในการเป็นองค์กรที่มีข้อมูลเป็นศูนย์กลาง"

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit