คณะสถาปัตยกรรมศาสตรและศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดพิธีไหว้ครูสล่าและไหว้ครูพื้นเมือง (ไหว้ครูกิ๋นอ้อผะญา) เพื่อให้นิสิตได้แสดงความเคารพนอบน้อม และความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูอาจารย์ สืบทอดประเพณี ส่งเสริม อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมด้านการไหว้ครูแบบล้านนา โดยมีการเดินขบวนเครื่องสักการะ พานไหว้ครู เครื่องพิธีไหว้ครู หน้ากากสัตว์มงคลจากวัสดุกระดาษรีไซเคิลของสำนักงาน มายังลานจัดพิธีอาคารปฏิบัติการคณะสถาปัตยกรรมศาสตรและศิลปกรรมศาสตร์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตรและศิลปกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์จันทนี เพชรานนท์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการการจังหวัดพะเยา นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ เข้าร่วมพิธีและกล่าวชื่นชมถึงการจัดพิธีไหว้ครูพื้นเมือง โดยอธิการบดีพร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากรและนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตรและศิลปกรรมศาสตร์ให้การต้อนรับ ภายในพิธีประกอบด้วย พิธีไหว้ครูสล่าและพิธีบูชาอ้อผะญา ครูผู้ประกอบพิธี โดยเกรียงศักดิ์ แรกข้าว ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 7 (ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี) พิธีไหว้ครูนาฏศิลป์พื้นบ้านล้านนา โดยแม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) พ.ศ. 2559 พิธีไหว้ครูดนตรีและการละเล่นพื้นบ้านล้านนา พิธีจับมือเขียนโดยตัวแทนคณาจารย์แต่ละหลักสูตร พร้อมรับอ้อผะญาจากประธานในพิธี และพิธีไหว้ครูอาจารย์ พร้อมกรวยดอกไม้นิสิตชั้นปีที่ 1-5 รับการผูกสายสิญจน์ ตามลำดับ
การแสดงในพิธีไหว้ครูสล่าและไหว้ครูพื้นเมือง อาทิ ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนเล็บพะเยา การแสดงพระ/นาง/ยักษ์/ลิง ในเพลงตระนิมิต ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนนกกิงกะหร่า ฟ้อนขันดอก ฟ้อนสะบัด การแสดงกลองทัด เป็นต้น
พิธีไหว้ครูสล่าและไหว้ครูพื้นเมือง (ไหว้ครูกิ๋นอ้อผะญา) เป็นประเพณีของชาวล้านนาที่นิยมปฏิบัติมาแต่โบราณ การกิน อ้อผญา คือ พิธีกรรมของคนล้านนา เมื่อจะมีการเรียนวิชาคาถาอาคมหรือเรียนวิชาการต่าง ๆ จะมีการกินอ้อผญา เพื่อให้บังเกิดสติปัญญาและความจำในการเรียนวิชานั้น
ต้นอ้อ ต้นไม้ที่ชอบขึ้นในพื้นที่ชั้นแฉะ ลำต้น เป็นปล้องแข็ง ใบเรียวเหมือนต้นแขมหรือหญ้าคา มีดอกสีขาว เวลาบานจะเป็นปุยนุ่นแผ่กระจายสวยงามแพร่พันธุ์และแตกกอได้ง่าย ตายยาก
คำว่า อ้อ อ่องอ้อ เป็นคำที่หมายถึง สติปัญญา มันสมอง บนขัน (พาน) ทอง และชันโตก คืออ้อผญา เป็นการแสดงถึงความเคารพ ความกตัญญูรู้คุณ ระลึกถึงบุญคุณของครูและเป็นการแสดงตนว่า
ขอเป็นศิษย์ และเพื่อสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างอาจารย์กับนิสิตชั้นปีที่หนึ่งที่เริ่มเข้ามาเป็นนิสิตในชั้นปีแรก และให้เป็นสิริมงคลกับนิสิตเองในพิธี ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตรและศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit