ม.มหิดล แนะใช้ดนตรีกระตุ้นเรียนออนไลน์

24 May 2022

เสียงดนตรีนอกจากกล่อมโลกให้เกิดสันติสุขแล้ว หากใช้ได้อย่างเหมาะสม จะเป็นเหมือนมนต์วิเศษที่ทำให้ผู้ฟังเกิดแรงผลักดันสู่ความสำเร็จได้ดังใจหวัง

ม.มหิดล แนะใช้ดนตรีกระตุ้นเรียนออนไลน์

เช่นเดียวกับการเรียนการสอนออนไลน์ หากปล่อยให้เกิด"dead air" หรือไมค์เงียบ โดยที่ไม่มีการใช้เสียง หรือดนตรีใดๆ เพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่องก็อาจพาบทเรียนล่ม หรือทำให้ผู้เรียนหลุดจากบทเรียนออนไลน์ก็เป็นได้

อาจารย์ ดร.อรปวีณ์ นิติศฤงคาริน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการการศึกษา และหัวหน้าสาขาเปียโน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สอนรายวิชา "Music Application for Online Teaching" ในโครงการพัฒนาศักยภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลด้านการศึกษา (Mahidol University Academic Development Program; MU-ADP)  จัดโดยกองบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ดนตรีเพื่อประกอบการเรียนการสอนออนไลน์โดยชี้ให้เห็นอานุภาพของดนตรีที่มีต่อการพัฒนาสมองของมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวัย 5 ขวบ พบว่าเด็กอาจเติบโตขึ้นเป็นอัจฉริยะ หากได้ฟังดนตรีที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นพัฒนาการ

ซึ่งสมองซีกซ้ายที่ใช้ในการคิดคำนวณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์ จะทำงานได้ดีขึ้นหากได้ฟังดนตรีที่มีจังหวะรุกเร้า แต่คงที่ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดแรงผลักดันตัวเองให้สามารถคิดและแก้โจทย์ยากๆ ได้โดยไม่สะดุด ในทางตรงกันข้าม หากใช้ดนตรีที่มีจังหวะช้าจนเกินไป อาจทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้มจนขาดสมาธิ

ในขณะที่สมองซีกขวาจะใช้ในการเรียนศิลปะ ควรหาดนตรีที่ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และสร้างแรงบันดาลใจเนื่องจากจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลาที่เรียนศิลปะ

แม้ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ทำให้การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนดนตรีอยู่บ้าง อาทิ การเรียนที่ต้องมีการ coaching หรือการฝึกจัดท่าการเล่นดนตรีที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับผู้เรียน นอกจากนี้ เวลาสอนดนตรีออนไลน์เสียงมาพร้อมกันทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ และที่สำคัญยากที่จะพัฒนาฝีมือการเล่นให้ดีได้ หากขาดการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ

ด้วยความพยายามที่จะเอาชนะปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการออกแบบการเรียนดนตรีตามความสามารถของผู้เรียน อาทิวิชาเอกเปียโน หากจะให้นักศึกษาเล่นเปียโนคอนแชร์โตหรือการเล่นเปียโนแบบประชันเป็นการบ้านคงไม่ได้เนื่องจากผู้เรียนอาจไม่สามารถหาเปียโนที่ 2 ในช่วงเรียนออนไลน์ได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสมต่อผู้เรียน

ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสอนออนไลน์ สำหรับวิชาดนตรีหรือวิชาใดๆ จะต้องมีการออกแบบการเรียนการสอนที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ หรือ interaction ระหว่างผู้เรียน และผู้สอนด้วย เพื่อเพิ่มบรรยากาศในการเรียนการสอน ซึ่งอาจทำได้ด้วยการสอดแทรกเกม หรือกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้พัฒนาโปรแกรม และเลือกใช้แอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อช่วยให้การเรียนสอนดนตรีออนไลน์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา โดยเป็นบทเรียนที่ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนได้จากทุกที่ในโลก และถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ซึ่งที่ผ่านมาทางวิทยาลัยฯ ได้ใช้กับนักศึกษาต่างชาติ จนสามารถเรียนออนไลน์ข้ามประเทศได้อย่างเห็นผล

ในอนาคต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลเตรียมขยายผลการใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปได้ลงทะเบียนเรียนออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ดนตรีที่ไร้ขีดจำกัด โดยจะเริ่มต้นด้วยวิชาคีย์บอดพื้นฐาน หรือการเล่นเครื่องดนตรีในแต่ละประเภทตามที่ผู้เรียนสนใจ เพื่อเก็บไว้เป็น credit bank ใช้เทียบโอนเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรการเรียนการสอนระบบปกติของวิทยาลัยฯ ได้ต่อไป

ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่ www.music.mahidol.ac.th

และติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210