บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ร่วมจัด "โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนปี 2565" (Circular Innovation Challenge 2022) ท้าทายเยาวชนอาเซียนในการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นเพื่อความยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม
โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นการแข่งขันในรูปแบบ Hackathon โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงประเด็นรอบด้านของเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมทั้งช่วยพัฒนาทักษะให้กับนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ในการพัฒนาโซลูชั่นที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส ร่วมจัดการแข่งขันกับพันธมิตรระดับนานาชาติ ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการ SDG Lab แห่งวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)
ผู้เข้าแข่งขันอายุระหว่าง 16-30 จาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย เข้าร่วมเวิร์คช้อปเพื่อฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคม พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญในการต่อยอดความคิดให้สามารถแก้ปัญหาได้จริง โดยแบ่งเป็นโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและนวัตกรรมทางสังคม (Circular Economy and Innovation) และโครงการด้านการจัดการน้ำและสุขอนามัย (Water, Sanitation & Hygiene) ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 200,000 บาท
ทั้งนี้ ทีม TrillionX จากประเทศไทย คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและนวัตกรรมทางสังคมในหัวข้อ "The Water Hyacinth Kitchen Sponge" หรือฟองน้ำทำความสะอาดจากผักตบชวา โดยเสนอไอเดียการนำเส้นใยของผักตบชวามาทำเป็นฟองน้ำ ช่วยเพิ่มการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรและพัฒนาสิ่งแวดล้อมของคูคลอง สำหรับรางวัลชนะเลิศประเภทโครงการด้านการจัดการน้ำและสุขอนามัย ได้แก่ ทีม Gama Future จากประเทศอินโดนีเซีย ในหัวข้อ "Hydro Cubes: Water Retaining Planting Cubes" หรือก้อนกักเก็บน้ำสำหรับเพาะปลูก โดยเสนอแนวคิดการนำฝุ่นไม้จากอุตสาหกรรมเฟอรนิเจอร์มารีไซเคิลเป็นวัสดุหลักในการผลิตก้อนไฮโดรเจลทรงสี่เหลี่ยม ที่สามารถดูดซับและกักเก็บน้ำสำหรับใช้งานทางการเกษตรได้ซึ่งผู้ชนะเลิศทั้งทีมสองทีมจะได้รับเงินรางวัลทีมละ 100,000 บาท สนับสนุนโดย อินโดรามา เวนเจอร์ส และ UNICEF
นายยาช โลเฮีย ประธานคณะกรรมการด้านการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า "เรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในการสานต่อโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน เห็นได้ว่าความกระตือรือร้นและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าแข่งขันสามารถแก้ปัญหาสังคมและส่งเสริมนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งการรีไซเคิล PET โดยนวัตกรรมโซลูชั่นที่แต่ละทีมนำเสนอล้วนเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ธุรกิจ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม"
Dr. Michael Hornblow ในฐานะผู้นำโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน วิทยาลัยโลกคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ศาสตร์เกี่ยวกับนวัตกรรมสังคมและความยั่งยืนในปัจจุบันเป็นเรื่องที่พูดถึงกันอย่างมากโดยโครงการนี้เป็นการระดมไอเดียแบบลงลึกในเรื่องของความยั่งยืน โดยนำนวัตกรรมทางสังคมมาประยุกต์ใช้ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมต่างได้รับประสบการณ์ในหลายๆ ประเด็นทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ต่อไปในอนาคต"
นางสาว อภิญญา สิระนาท Head of Exploration, UNDP Accelerator Labs ประเทศไทย กล่าวว่า "เป้าหมายของโครงการนี้ คือ การสนับสนุนการนำความคิดที่เป็นนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการลดและการนำของเสียมาใช้ซ้ำในกระบวนการผลิต การนำแนวคิดเหล่านี้ไปปฏิบัติจริงจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมที่สะอาดและยั่งยืนยิ่งขึ้น ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)"
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit