จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ รับรางวัลเกียรติยศ...ผู้ริเริ่ม-พัฒนานำเทคโนโลยีดิจิทัลการแพทย์สู่ภาคปฏิบัติในประเทศไทย

09 Sep 2022

ในงานประชุมนานาชาติเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัดและการแพทย์แห่งเอเชีย 2022 (18th Asian Conference on Computer Aided Surgery and Medicine: Digital Health Innovation : ACCAS) คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฏร และ สมาคมคอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัดแห่งเอเชีย (Asian Society of Computer Aided Surgery) โดย ศาสตราจารย์ ดงซู ควอน ประธานสมาคมฯ และผู้อำนวยการ ศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์แห่งอนาคต สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี (KAIST) เป็นประธานมอบรางวัลเกียรติยศ แก่ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มและพัฒนานำเทคโนโลยีดิจิทัลทางการแพทย์สู่ภาคปฏิบัติในประเทศไทย ท่ามกลางบุคลากรและองค์กรชั้นนำในแวดวงวิจัย วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และการแพทย์นานาชาติที่มาร่วมงาน ณ สัปปายะสภาสถาน รัฐสภา

จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ รับรางวัลเกียรติยศ...ผู้ริเริ่ม-พัฒนานำเทคโนโลยีดิจิทัลการแพทย์สู่ภาคปฏิบัติในประเทศไทย

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BART LAB) จบการศึกษาปริญญาเอกด้านหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) และปริญญาโทด้านวิศวกรรมควบคุมจากมหาวิทยาลัยเทคโนยีมิชิแกน (Michigan Technological University) สหรัฐอเมริกา เปี่ยมประสบการณ์ทำงานวิจัยสร้างสรรค์นวัตกรรมและนักบริหารมากว่า 18 ปี มีบทบาทในการพัฒนาดิจิทัลเฮลท์แคร์ และ หุ่นยนต์หลายประเภท สนับสนุนให้ระบบแพทย์ทางไกล ( Telemedicine) ในประเทศไทยพัฒนาเป็นจริงและมีประสิทธิภาพ เช่น หุ่นยนต์ช่วยแพทย์อัจฉริยะ หุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์ผ่าตัด หุ่นยนต์ฝึกแพทย์ผ่าตัด เขายังเป็นผู้บุกเบิกการก่อตั้ง ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Mahidol Biomedical Engineering) เป็นแห่งแรกในประเทศไทยและอาเซียน ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล และก่อตั้งศูนย์ BART LAB เป็นแหล่งคิดค้นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์แห่งแรกของไทย โดยทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ และสร้างผลงานนวัตกรรมเฮลท์เทคต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน รวมถึงพัฒนานักสร้างหุ่นยนต์คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญของสังคมประเทศชาติ

ด้วยความคิดสร้างสรรค์และทุ่มเทพลังในงานวิศวกรรมหุ่นยนต์และดิจิทัลเฮลท์แคร์ เขาได้สร้างผลงานวิจัย เพื่อประโยชน์ต่อคนไทยและส่วนรวม อาทิเช่น

  • หุ่นยนต์และการควบคุมการผ่าตัดส่องกล้องทางรูจมูกเพื่อรักษาเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง" (Endoscopic Endonasal Transsphenoidal Surgical Robot With Optical Tracking Control) การบุกเบิกครั้งแรกของไทยและอาเซียน และนำมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการยกระดับหุ่นยนต์เพื่อการแพทย์ในประเทศและประชาคมนานาชาติ เป็นการผ่าตัดส่องกล้องเอนโดสโคปทางรูจมูกเพื่อรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือ Endonasal Endoscopic Transsphenoidal (EETS) โดย ระบบหุ่นยนต์นี้ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ 1.ระบบนำทาง 3 มิติ (3D Navigation System) และ 2.หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Surgical Robot) โดยก่อนการผ่าตัดจะนำภาพจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) มาใช้เพื่อสร้างโมเดลแบบจำลอง 3 มิติ ทางกายวิภาคของโครงกระดูกและช่องทางการผ่าตัดในบริเวณพื้นที่ผ่าตัด พร้อมกับใช้ระบบกล้องติดตามเครื่องมือผ่าตัด (Optical Tracking System) เพื่อนำทางแบบเรียลไทม์ด้วยกล้องเอนโดสโคปเสมือนจริงบนจอ เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีของหุ่นยนต์การแพทย์และปัญญาประดิษฐ์ในการสนับสนุนพัฒนาให้ศัลยแพทย์ทางประสาทก้าวพ้นขีดจำกัด ใช้งานได้ง่าย ความแม่นยำสูง และลดเวลาการผ่าตัด ด้วยเทคนิคการผ่าตัดที่มีแผลเล็ก ภายใต้ความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ตอบโจทย์การผ่าตัดที่ก้าวหน้าทันสมัยและอนาคต
  • ระบบนำทางผ่าตัด และหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมะเร็งเต้านม โดยจุดเด่นของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่สามารถทำงานร่วมกับศัลยแพทย์ได้ ลดข้อจำกัดของมนุษย์ในหลายด้าน เช่น ความแม่นยำสูงในพื้นที่ทำงานอันจำกัด ลดระยะเวลาการผ่าตัดและเพิ่มประสิทธิผล ลดความผิดพลาดจากความเหนื่อยล้า ทำงานได้ต่อเนื่อง โดยปกติการผ่าตัดประเภทนี้จะต้องใช้บุคลากรจำนวนมากและมีความชำนาญในพื้นที่อันละเอียดอ่อนและจำกัด ด้วยความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เมื่อมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด จะเข้ามาช่วยให้แพทย์ทำการผ่าตัดแม่นยำและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
  • พัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง ซึ่งมีการถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์และใช้เป็นแนวทางให้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดตามที่วางไว้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดการได้รับรังสีในผู้ป่วยและศัลยแพทย์จากการถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ต่อเนื่องในระหว่างการผ่าตัด ด้วยความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  • หุ่นยนต์ผ่าตัดปลูกผม (Hair Transplant Robotics) ประสบผลสำเร็จร่วมกับทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พัฒนาหุ่นยนต์ปลูกผมด้วยเทคโนโลยี FUE เป็นรายแรกในประเทศไทยโดยสามารถปลูกเส้นผมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่นเวลาจากวิธีเดิมถึง 4 เท่า และเพิ่มผลลัพธ์รากผมที่ปลูกใหม่กว่า 90 %
  • หุ่นยนต์ช่วยแพทย์อัจฉริยะ Telemedicine ในชื่อ DoctoSight สำหรับขนส่งยา-อาหาร-อุปกรณ์ แพทย์สามารถพูดคุยกับคนไข้ผ่านจอภาพของหุ่นยนต์
  • หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยอ่อนแรง หรือผู้สูงอายุในขณะนั่งสามารถลุกขึ้นยืนได้ พึ่งพาตนเองได้ โดยพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวของงานวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ ดิจิทัลเฮลท์แคร์และวิศวกรรมหลายสาขา ทำให้หุ่นยนต์ฝีมือคนไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติและสามารถคว้ารางวัลระดับโลก เช่น เป็นหัวหน้าทีมโครงการวิจัยหุ่นยนต์ใต้น้ำสำรวจขั้วโลกใต้ ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย (Thai Robotics Society) เขายังเป็นคนไทยที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาพันธ์โรโบคัพนานาชาติ (International RoboCup Federation) ทั้งเคยเป็นประธานจัดแข่งขัน RoboCup Thailand และการแข่งขัน RoboCup Asia-Pacific ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 -17 ก.ค. 2565 ได้เป็นประธานจัดงานแข่งขันหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก World RoboCup 2022 ณ ไบเทค ผลักดันให้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ ต้อนรับทีมแข่งขันกว่า 3,000 คน จาก 45 ประเทศ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าและต่อยอดนวัตกรรมหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติในประเทศไทยและประชาคมโลก ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่และสตาร์ทอัพ

ในด้านการขับเคลื่อนขยายความร่วมมือกับองค์กรระดับโลก เขาผนึกความร่วมมือกับภาครัฐและเครือข่ายจัดประชุมนานาชาติด้านหุ่นยนต์หลายงานเพื่อแลกเปลี่ยน-พัฒนาองค์ความรู้แก่คนรุ่นใหม่ นักวิจัยและคนไทย เช่น งาน Medical Robotics Seminar : ถอดบทเรียนและแนวโน้มของหุ่นยนต์การแพทย์ โดยร่วมกับ อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) สหราชอาณาจักร, จัด Medical Robotics Seminar : หุ่นยนต์การแพทย์ เจนเนอเรชั่นที่ 5 โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวตง (Shanghai Jiao Tong University) สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังผนึกความร่วมมือระหว่างคณะวิศวะมหิดล กับ ภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มด้านดิจิทัลเฮลท์แคร์และตลาดเฮลท์เทค เช่น โครงการวิจัยและพัฒนาระบบนวัตกรรมสารสนเทศทางการแพทย์อัจฉริยะ ระยะ 5 ปี เพื่อพัฒนาโครงข่ายและเครือข่ายสาธารณสุขดิจิทัลของประเทศไทยในยคเทคโนโลยี 5G, โครงการออกแบบพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ "โซ่ความเย็น" วัคซีนโควิด-19, โครงการวิจัยต้นแบบจัดตั้งคลังกลาง ระหว่างโรงพยาบาลสำหรับยาและเวชภัณฑ์ (Centralized Warehouse Logistics)" เป็นต้น

 

HTML::image(