ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต แจ้งผลประกอบการ ไตรมาส 2 และรอบ 6 เดือน ปี 2565 โดยธนาคารและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิ 3,438 ล้านบาท ในไตรมาส 2/65 เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาส 1/65 และ 36% จากไตรมาส 2/64 ส่งผลให้ 6 เดือนแรกของปีมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 6,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ผลประกอบการที่ดีขึ้นนี้ เป็นผลจากการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งในส่วนของการเติบโตสินเชื่อ แนวโน้มด้านรายได้ การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และคุณภาพสินทรัพย์ จึงทำให้ธนาคารยังคงรักษาแนวโน้มหรือโมเมนตัมเชิงบวกของผลกำไรได้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว
โดยในไตรมาส 2/65 นี้ ด้านรายได้มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งด้านรายได้ดอกเบี้ยที่ได้รับแรงหนุนจากการเติบโตสินเชื่อ และด้านรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้นจากค่าธรรมเนียมการขายประกันและค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ซึ่งช่วยชดเชยในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมกองทุนรวมที่ยังคงชะลอตัวจากภาวะตลาดเงินตลาดทุนที่มีความผันผวนมาตั้งแต่ต้นปี
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนั้น แม้จะมีค่าใช้จ่ายจากแผนลงทุนด้านดิจิทัล แต่เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการรวมกิจการด้านต้นทุน หรือ Cost Synergy จึงทำให้สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ตามแผน สะท้อนได้จากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่อยู่ในกรอบเป้าหมายมาโดยตลอด
ด้านค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ก็ลดลงเช่นกัน เป็นผลจากแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลงเมื่อเทียบกับหลายไตรมาสก่อนหน้า ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับธนาคารได้ตั้งสำรองฯ ล่วงหน้าไว้แล้วบางส่วนในปี 2564 และที่ผ่านมาก็ดำเนินการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ ควบคู่กับแก้ปัญหาหนี้เสียเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้คุณภาพพอร์ตสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ควบคุมและมีสัดส่วนหนี้เสียที่ต่ำกว่าระดับอุตสาหกรรม
สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 และรอบ 6 เดือน ปี 2565 มีดังนี้
ณ สิ้นไตรมาส 2/65 สินเชื่อรวม อยู่ที่ 1,393 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 1.6% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยธนาคารสามารถเติบโตสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยได้ตามแผน นำโดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อ บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจเติบโตเช่นกัน โดยมาจากกลุ่มลูกค้าบรรษัทธุรกิจเป็นหลัก
ด้านเงินฝาก อยู่ที่ 1,395 พันล้านบาท ในไตรมาส 2/65 เพิ่มขึ้น 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 4.2% จากสิ้นปีที่แล้ว เป็นไปตามแผนการขยายเงินฝากเพื่อรองรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในอนาคต นำโดยเงินฝากลูกค้ารายย่อย ทีทีบี อัพ แอนด์ อัพ ขณะที่เงินฝาก ทีทีบี ออลล์ฟรี และทีทีบี โนฟิกซ์ ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงที่ธนาคารขยายฐานเงินฝากในอัตราที่เร็วกว่าสินเชื่อ อาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยค่อนข้างเร่งตัวในระยะสั้น อย่างไรก็ดีจากรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อและกลยุทธ์การบริหารต้นทุนทางการเงิน จึงช่วยให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 2/65 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวดีขึ้นจากค่าธรรมเนียมการขายประกันที่เริ่มฟื้นตัวและค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 2/65 อยู่ที่ 15,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากไตรมาสที่แล้ว
ธนาคารยังคงบริหารค่าใช้จ่ายได้ดี โดยอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 45% ในไตรมาส 2/65 อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 45%-47% แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับ 44% ในไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากธนาคารเริ่มรับรู้ค่าใช้จ่ายจากแผนการลงทุนด้านดิจิทัล ประกอบกับมีรายการ one-time จากการรับรู้การขาดทุนจากการแปลงค่าเงินที่เกิดจากการปิดสาขาในประเทศลาว จึงส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ หรือ Pre-Provision Operating Profit (PPOP) ในไตรมาส 2/65 อยู่ที่ 8,752 ล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวหรือลดลงเพียง 0.7% จาก 8,818 ล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64 โดยรวม 6 เดือน ปี 65 มี PPOP รวม 17,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ในไตรมาส 2/65 ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 4,382 ล้านบาท เทียบกับ 4,808 ล้านบาท ในไตรมาส 1/65 รวม 6 เดือน ปี 65 ตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้น 9,190 ล้านบาท เทียบกับ 10,971 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังถือเป็นการตั้งสำรองฯ ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภาวะปกติ ทั้งนี้ จากการแก้ปัญหาหนี้เสียเชิงรุก ส่งผลให้สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 2.63% เทียบกับ 2.81% ณ สิ้นปี 2564 และเมื่อพิจารณาสัดส่วนเงินสำรองฯ ต่อหนี้เสีย พบว่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 133% จาก 129% ณ สิ้นปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าการตั้งสำรองฯ ในระดับปัจจุบันมีความเพียงพอ และธนาคารยังคงมีกันชนรองรับความเสี่ยงในระดับสูง
ท้ายสุดด้านความเพียงพอของเงินกองทุนยังอยู่ในระดับสูงและเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/65 อัตราส่วน CAR และ Tier 1 (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.9% และ 15.8% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ
นายปิติ กล่าวสรุป "สำหรับช่วงที่เหลือของปี ธนาคารจะยังคงใช้กลยุทธ์การเติบโตอย่างมีคุณภาพ เน้นการเติบโตสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวังและเน้นกลุ่มลูกค้าความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อ ขณะที่ ทีทีบี คอนซูมเมอร์ จะช่วยสนับสนุนการเติบโตสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนให้รายได้ดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อฟื้นตัวได้มากขึ้นในช่วงถัดไป ด้านคุณภาพสินทรัพย์จะยังคงยึดนโยบายรอบคอบตามเดิม เพื่อรักษาฐานะทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ และยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งวันนี้ และอนาคต"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit