สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมอบรางวัลให้แก่ นางสาวเมธีรัตน์ ธานีรัตน์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานจากการประกวดระดับบัณฑิตศึกษาประเภท รางวัลการเขียนข้อเสนอผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model "รางวัลระดับดีเด่น" และ รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 "รางวัลระดับดีมาก" ให้กับผลงาน เรื่อง "เพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก" ในงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)" เมื่อวันที่ 1 - 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม ในการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งในงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)" ครั้งที่ 17 ได้มีการมอบรางวัลผลงานจากการประกวด 2 ประเภท ได้แก่ 1) รางวัลการเขียนข้อเสนอผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 และ 2) รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร2) ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ 4) ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ 5) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษา โดยเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะเทคนิคด้านนวัตกรรม กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นิสิต/นักศึกษาเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ ศักยภาพ และกลายเป็นบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไป
นางสาวเมธีรัตน์ ธานีรัตน์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง จัดเป็นกากของเสียที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล ในลักษณะของการแกะเนื้อหอยเพื่อส่งขาย หรือการแกะเนื้อหอยเพื่อเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมในการแปรรูป ทำให้เกิดการจ้างแรงงานแกะหอยแมลงภู่ในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ส่งผลทำให้เกิดขยะประเภทเปลือกหอยปริมาณมาก ขยะเปลือกหอยเหล่านี้ส่วนใหญ่กำจัดโดยวิธีการเทกองทิ้งบริเวณรอบที่พักอาศัย หรือ พื้นที่สาธารณะทั่วไป ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะในอากาศกลิ่นเหม็นจากการเน่าเสีย เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคสร้างความรำคาญใจให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาในการจัดการและการกำจัดขยะที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ จึงเกิดความคิดที่ว่าจะแก้ไขปัญหาเปลือกหอยแมลงภู่ที่เหลือทิ้งได้อย่างไร นำไปสู่การคิดค้นการนำเปลือกหอยแมลงภู่ที่เหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ "เพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก" จากเปลือกหอยแมลงภู่
งานวิจัยนี้จึงได้นำหอยแมลงภู่ที่เหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดขยะที่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลนำมาต่อยอดเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ "เพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก" จากเปลือกหอยแมลงภู่ ที่มีเนื้อสัมผัสของเม็ดสครับจากเกล็ดประกายมุกที่มีความอ่อนโยนต่อผิวจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีความบริสุทธิ์ และมีความปลอดภัยสูง สามารถทำความสะอาดผิวและรูขุมขนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วหรือสิ่งสกปรกที่ตกค้าง ลดการอุดตันของรูขุมขน ลดโอกาสการเกิดสิว ช่วยฟื้นฟูสภาพผิวโดยการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดเร่งการผลัดเซลล์ผิวใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ "เพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก" เป็นการนำวัตถุดิบเกล็ดประกายมุกจากเปลือกหอยแมลงภู่มาทดแทนการใช้พลาสติกไมโครบีดส์ที่ทำจากพอลิเมอร์สังเคราะห์ และยังเป็นการแปรรูปขยะจากเปลือกหอยให้เป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตให้กับชุมชน
นับได้ว่าเป็นการบูรณาการ ในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนได้อย่างยั่งยืนตามหลักการ BCG Economy Model