วันนี้ (11 สิงหาคม 2565) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดงาน Talk About Rubber ครั้งที่ 4 สถานการณ์ยางไตรมาส 3 ยังคงอยู่ในระดับที่ดี ปัจจัยหนุนมาจากยางล้อและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศหลังโควิดคลี่คลาย พร้อมย้ำ ขอให้เกษตรกรร่วมตอบแบบสอบถามเรื่องโรคใบร่วง ผ่านแอพ "Rubbee" เพื่อเฝ้าระวังเรื่องโรคใบร่วงอย่างใกล้ชิด
นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฏ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าวว่า สถานการณ์ยางพาราโลกขณะนี้ World bank & OECD GDP Projections in 2002 ประกาศ ค่า PMI ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือน ก.ค. 2565 อยู่ที่ 52.20 ประเทศจีน 49.00 ประเทศญี่ปุ่น 52.10 และ ยุโรป อยู่ที่ 49.80 เนื่องจากความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงมาตรการ Zero Covid ของจีน และความขัดแย้งระหว่าง ไต้หวัน จีน และสหรัฐ ในขณะที่ปริมาณการผลิตและการใช้ยางธรรมชาติของโลก ANRPC วิเคราะห์ว่าในปี 2565 ปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 14.420 ล้านตัน และปริมาณการใช้ยางอยู่ที่ 15.204 ล้านตัน และคาดว่าการดำเนินนโยบายลดภาษีรถใหม่ของจีน ทำให้ยอดขายรถเพิ่มขึ้น 24% และความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนของอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้การผลิตรถ EV เพิ่มขึ้น โดย ANRPC คาดว่าความต้องการยางจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4 %
ด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตยางลง 1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ซึ่งเมื่อคิดผลผลิตยางเป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน และปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น เพราะปีนี้ยังอยู่ในภาวะลานินญ่า และในช่วงของเดือนสิงหาคม - กันยายน เป็นช่วงที่เกิดฝนตกชุก เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องระวังเรื่องน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคเหนือ อีสานและตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ และคาดว่าการส่งออกจะอยู่ที่ 4.275 ล้านตัน โดยการส่งออกในช่วงของปลายปี ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน
น.ส. อธิวีณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังใช้ยางเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมยางล้อ ในช่วงไตรมาสที่ 1 สหรัฐมีมูลค่าการนำเข้ายางยานพาหนะเพิ่มขึ้น 31% และในส่วนของแนวโน้มยางพาราจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยว การเดินทาง และการขนส่ง ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเส้นด้ายยางยืด หรือล้อรถยนต์ คาดว่ามีโอกาสที่ขยายตัวมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ราคายางก็ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่ง กยท. ก็มีมาตรการ ต่างๆ ที่จะเข้ามาดูแล ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง โดยมี โครงการรักษาเสถียรภาพราคายางโครงการชะลอยาง โครงการสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยางแห้ง โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท กล่าวถึง โครงการ Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU ที่ กยท. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำแนวคิดบวกกับนวัตกรรม และเงินทุน ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์การวิจัยต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเจรจาซื้อขาย การค้า ทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่าสินค้า โดยมีแนวทางการคิดค้นนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยงปศุสัตว์ สิ่งแวดล้อม ลดขยะโดยการนำกลับมาใช้ใหม่ ลดการใช้พลังงาน เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการเลือก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มนวัตกรรมเพื่อสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์และการเกษตร เช่น รองเท้าโคจากยางพารา เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพของโค ลดอาการบาดเจ็บได้ ที่ลับเล็บแมวจากวัสดุ TPNR และไม้ยางพารา ผลิตจากวัสดุมีความทนทานมากขึ้นจากเดิมที่มักจะใช้กระดาษลูกฟูก พร้อมทั้งมีการเพิ่มกลิ่นจาก Catnip หรือกัญชาแมว จะทำให้แมวรู้สึกผ่อนคลาย และหนังเทียมวัสดุทางการเกษตรและยางพารา สร้างมูลค่าของสินค้าเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีทำให้เกิดวัสดุใหม่ 2. กลุ่มนวัตกรรมเพื่อลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซพิษ เพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ทุ่นลอยน้ำ ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ออกแบบให้ต่อเหมือนจิ๊กซอว์ โดยสามารถวางแผงโซล่าเซลล์ลอยน้ำได้ หรือใช้เป็นกระชังเลี้ยงสัตว์ แพลอยน้ำ บ้านน็อคดาวน์ได้ ทุ่นกักขยะและทุ่นกักน้ำมันยางพารานำยางพารามาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นทุ่นลอยน้ำ ใช้กักขยะและกักน้ำมันทดแทนโฟม ซึ่งมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าโฟมธรรมดา ทดทานต่อน้ำมันและไม่ปลดปล่อยสารที่เป็นพิษต่อแหล่งน้ำ ปุ๋ยอินทรีย์เคลือบยางพารา ในรูปแบบอัดเม็ดที่เคลือบผิวด้วยกาวยางพาราสูตรพิเศษ ช่วยควบคุมการปลดปล่อยปุ๋ยให้ออกมาช้าๆร่วมกับการปลดปล่อยเชื้อจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มา ทำให้พืชแข็งแรง พร้อมทั้งลดมลพิษในอากาศ ปุ๋ยมูลจิ้งหรีดเคลือบยางพารา เป็นผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของมูลจิ้งหรีด 70% น้ำยาง 30% เป็นการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งการเคลือบด้วยยางธรรมชาติจะทำให้ปุ๋ยละลายช้าขึ้นเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช 3. กลุ่มนวัตกรรม Upcycle เพื่อลดขยะและการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการทำหวายเทียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก
ผู้ว่าการกล่าวต่อว่า สถานการณ์ยางพาราในไตรมาส 3 และ 4 ยังคงเป็นไปตามกลไกปกติ ซึ่งในปีนี้อานเกิดปัจจัยจากภสยนอกประเทศ เช่น เรื่องสงคราม หรือปัญหาขัดแย้งต่างๆ ดังนั้นจากนี้การสื่อสารเรื่องสถานการณ์ราคายางจะเป็นไปในแบบระยะสั้น ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
ขอฝากถึงเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ขอความร่วมมือเข้าร่วมทำแบบสอบถามเรื่องโรคใบร่วงชนิดใหม่ ผ่าน Application "Rubbee" เพื่อนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการเรื่องโรคใบร่วง หากพบการเกิดโรคให้รีบแจ้งข้อมูลให้ กยท. ในพื้นที่ทราบ เพราะในเรื่องนี้เป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่ง กยท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามและดำเนินการในการหาแนวทางในการป้องกันการเกิดโรคอย่างต่อเนื่อง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit