สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับพันธมิตรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme - UNDP) จัดตั้ง "สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR Academy : Business and Human Rights Academy)" เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนสำหรับองค์กรธุรกิจ และพัฒนาศักยภาพในการนำหลักการและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีไปใช้ให้เกิดผลได้จริง หวังผลักดันเป็นศูนย์กลางการอบรมสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ GCNT เปิดเผยว่า สมาคมฯ ตั้งใจที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs :UN Guiding Principles on Business and Human Rights) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทย รวมทั้ง เล็งเห็นว่าการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน เป็นประเด็นท้าทายของภาคเอกชนที่นับวันจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น แต่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังขาดแหล่งข้อมูล การเสริมสร้างสมรรถนะในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ พื้นที่สำหรับการเรียนรู้ และที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นข้อต่อสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของภาคเอกชน จึงหวังว่า สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR Academy) จะตอบโจทย์ความท้าทายนี้ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยเป็นพื้นที่ให้ภาคธุรกิจได้แลกเปลี่ยนพูดคุย หาทางออก และทำความเข้าใจกับองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้ประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับภาคธุรกิจอีกต่อไป พร้อมทั้งจะผลักดันให้สถาบันฯ เป็นศูนย์กลางการอบรมสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วย
"การบริหารจัดการประเด็นทางสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรกระทำตามหลักการดำเนินธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาลแล้ว ยังจะช่วยให้องค์กรธุรกิจได้รับการยอมรับ ลดความเสี่ยง ทั้งด้านการปฏิบัติการ ด้านชื่อเสียงและกฎหมาย และเปิดโอกาสทางธุรกิจ เข้าถึงตลาด บุคลากร และแหล่งเงินทุนได้กว้างขึ้น" ดร. เนติธร กล่าว
นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การจัดตั้ง BHR Academy ถือเป็นการขับเคลื่อนแผนปฎิบัติการระดับชาติไปสู่ภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี GCNT เป็นแกนหลักร่วมกับพันธมิตร โดยต่อไปจะต้องเน้นการขับเคลื่อนไปในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย เพื่อให้นักธุรกิจได้รับรู้ถึงแนวโน้มของโลก และให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน โดยเป้าหมายต่อไปของกรมฯ คือ การจัดทำแผนระยะที่ 2 และประกาศใช้ให้ทันปี 2566-2570 เพื่อส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในทุกระดับ
ด้านนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายมีความสำคัญและเป็นหัวใจของการทำงานเรื่องนี้ โดยสิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคใหญ่ คือ คนยังไม่รู้และไม่เข้าใจว่าทำแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร มีค่าใช้จ่ายหรือไม่ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว การขับเคลื่อนจึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งการจัดตั้ง BHR Academy จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้สามารถขยายผลได้ในวงกว้าง
นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถประเมินความเสี่ยงและลดผลกระทบ รวมทั้งสามารถจัดทำรายงานเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ที่สอดคล้องกับหลักการ UNGPs เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน ทั้งจากภายในและระหว่างประเทศ โดย ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล 56 - 1 One Report เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ครอบคลุมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน มีผลบังคับใช้ในปี 2565 เป็นปีแรก นอกจากนี้ ยังขยายผลไปยังประเด็นที่เกี่ยวข้อง คือ การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและการลดความเหลื่อมล้ำด้วย การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นพลังความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้สามารถขยายผลในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น และจะช่วยตอบโจทย์การบรรลุแผน NAP และเป้าหมาย UN SDG ได้
ส่วนนางสาวโลวิตา รามกุทธี รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (BHR) มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังก้าวไปสู่ยุคหลังโควิด รวมทั้งได้ระบุถึงความสำคัญของแนวคิดและแนวทางปฏิบัติของ BHR ต่อการตอบสนองต่อวิกฤตและความพยายามฟื้นฟูโลกให้กลับมาดีขึ้น และในที่สุดจะสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืนอยู่แล้ว เห็นได้จากความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นในด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ประกอบการเกือบ 170 แห่งที่นำหลักการ UNGPs มาใช้ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก การบูรณาการสิทธิมนุษยชนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานได้สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าและการแข่งขันในตลาดโลก การก่อตั้ง BHR Academy จึงเป็นโอกาสดีในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของไทย เพื่อให้แน่ใจว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จะเป็นไปด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชน
หลังพิธีลงนามความร่วมมือ ยังมีปาฐกถาพิเศษ โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้กล่าวย้ำว่า วันนี้ ESG และ BHR เป็น2 เรื่องสำคัญ ที่ธุรกิจต้องดำเนินการไปพร้อมกัน นอกจากการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อีกด้านหนึ่งจะเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ธุรกิจให้ความสำคัญกับความตกลงปารีส การจัดทำแผนธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ หรือการแสวงหาแหล่งพลังงานสะอาด ก็ต้องคำนึงถึงความเปราะบางทางสังคมควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการเอาชนะความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมการรักษาสุขภาพ การบรรเทาความยากจน การจ้างแรงงานข้ามชาติ ความมั่นคงด้านอาหาร โดยการทำงานของ BHR Academy จะเข้ามาเติมเต็มในเรื่องนี้ และจะต้องได้รับความร่วมมือจากกลุ่มพันธมิตรที่ช่วยกันสนับสนุน รวมไปถึงภาคประชาสังคม โดยอาจมีการจับคู่กับภาคธุรกิจรายใหญ่และรายเล็ก เพื่อตรวจสอบในด้านสิทธิมนุษยชนด้วย
ด้าน ดร. เสรี นนทสูติ สมาชิกคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวถ้อยแถลงว่า BHR Academy เป็นจิ๊กซอร์ตัวสุดท้ายที่ประเทศไทยได้เติมเต็มตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2011 โดยจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจและประเทศไทย ได้ตระหนักและนำหลักการชี้แนะนี้ไปปฏิบัติตามใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ การจัดทำนโยบายเคารพสิทธิมนุษยชน การตรวจสอบรอบด้านว่าตนเองและผู้ค้าไม่ได้มีส่วนร่วมละเมิดสิทธิมนุษยชนใคร และการจัดการผู้ค้าอย่างเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นกับโลกตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือความเสี่ยงที่ธุรกิจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าทาสสมัยใหม่ ซึ่ง BHR Academy จะช่วยทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่า ธุรกิจตระหนักว่าตนเองมีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงนี้หรือไม่ และจะต้องมีบทบาท ทั้งป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และแสดงความรับผิดชอบหากความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มีแผนจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบรอบด้าน (HRDD : Human Rights Due Diligence) ในแพลตฟอร์มที่หลากหลาย โดยปรับตามความเหมาะสมในบริบทและสถานการณ์ อาทิ การฝึกอบรมขั้นพื้นฐานธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การสัมมนาขั้นปฏิบัติการ หรือ virtual workshop เพื่อสร้างเครือข่ายและระบบนิเวศ (Eco-System) ภาคเอกชน ร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม BHR Forum หรือ virtual webinar เพื่อเชื่อมโยงผู้ปฏิบัติงาน ทิศทางและแนวโน้มประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน นโยบาย และภาพรวมกระบวนการตรวจสอบรอบด้าน (HRDD) และการดูงาน ณ สถานประกอบการขององค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
สำหรับหลักสูตรแรก จะครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน กระบวนการตรวจสอบรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) การแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กรต่างๆ ถึงเทคนิค วิธีการตรวจหา และจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบที่ธุรกิจมีต่อสิทธิมนุษยชน หน้าที่ของบริษัทที่ต้องลงมือปฏิบัติในเรื่องของสิทธิมนุษยชน วิธีการลงมือปฏิบัติ ติดตามผล และสื่อสารเรื่องผลกระทบที่ธุรกิจมีต่อสิทธิมนุษยชน วิธีการรับมือและหาทางออก เมื่อเกิดผลกระทบเชิงลบและการมีกลไกการร้องทุกข์ที่มีประสิทธิภาพ ภาคธุรกิจที่สนใจสามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/wPFT3H9Ag7HJAPHx7
HTML::image(