โครงการ "ปันน้ำปุ๋ยสู่ชุมชน" เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซี่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ฟาร์มสุกรของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สานต่อโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปันน้ำปุ๋ยที่ผ่านการบำบัดในระบบแก๊สชีวภาพ สู่บ่อบำบัดน้ำ ต่อไปสู่บ่อพักน้ำ โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดจนได้มาตรฐานตามที่กฏหมายกำหนด ส่งต่อให้เกษตรกรนำไปใช้ในการเพาะปลูก อาทิ เมื่อปี 2564 ฟาร์มสุกรนพรัตน์ ฟาร์มสุกรปราจีนบุรี1 ฟาร์มสุกรคอนสวรรค์ ฟาร์มสุกรอำนาจเจริญ โรงชำแหละสุกรสระแก้ว ฟาร์มสุกรนนทรี ปล่อยน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรรวม 222,805 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 649 ไร่ ช่วยประหยัดค่าปุ๋ยได้ประมาณกว่า 5 แสนบาท เป็นต้น
ขณะที่ฟาร์มสุกรแห่งอื่นๆของซีพีเอฟ และคอมเพล็กไก่ไข่ของซีพีเอฟ 4 แห่ง คือ ฟาร์มสันกำแพง ฟาร์มวังทอง ฟาร์มจะนะ และฟาร์มหนองข้อง นำน้ำที่บำบัดแล้วให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้เช่นกัน
เสียงสะท้อนจากเกษตรกรที่ขอรับปันน้ำปุ๋ยจากฟาร์ม ทั้งเกษตรกรที่เป็นรุ่นแรกๆและเกษตรกรรายใหม่ บอกว่า "น้ำปุ๋ย" เป็นตัวช่วยเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูก อาทิ ค่าปุ๋ย ค่าน้ำมันที่ต้องสูบน้ำมาใช้ โดยเฉพาะในช่วงแล้งที่ขาดแคลนน้ำ ปัจจุบัน น้ำปุ๋ยช่วยให้เกษตรกรหลายราย ไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้อีกเลย สามารถวางแผนการจัดการผลผลิต และใช้ประสบการณ์ในอาชีพวางแผนการนำน้ำปุ๋ยมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ และชนิดของพืชที่ปลูก
พรทิพย์ ขุนศรีภิรมณ์ อายุ 55 ปี มีอาชีพทำนา ทำไร่ ใช้น้ำปุ๋ยของฟาร์มสุกรนนทรี ซึ่งเป็นฟาร์มสุกรของซีพีเอฟในจังหวัดปราจีนบุรี กับไร่อ้อยและแปลงข้าวโพด ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อย จากปกติไร่ละ 8 ตัน เป็นไร่ละ 12 ตัน และทำให้สามารถปลูกข้าวโพดในช่วงแล้งได้จากการที่ได้รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มมาใช้ เพิ่มรายได้ในช่วงแล้งที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ และยังช่วยลดต้นทุนเรื่องค่าน้ำมันในการสูบน้ำมารดพืชที่ปลูก
พรทิพย์ เล่าว่า นำน้ำปุ๋ยมาใช้กับไร่อ้อยในช่วงแล้งหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ต้นอ้อยแตกกอดี โดยปกติจะใส่ปุ๋ยเคมีไร่ละ 2 กระสอบ แต่มีน้ำปุ๋ย ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงเหลือใช้เพียง 0.5 กระสอบต่อไร่ เช่นเดียวกับแปลงข้าวโพด ที่ปกติจะใส่ปุ๋ยเคมี 1.5 กระสอบต่อไร่ แต่เมื่อใช้น้ำปุ๋ยที่ฟาร์มปล่อยให้ที่แปลงข้าวโพดแล้ว ปัจจุบันเหลือใช้ปุ๋ยเพียงไร่ละ 0.5 กระสอบ
"สาคร คงโนนนอก" อายุ 58 ปี อาชีพทำนา ทำไร่ ใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรนนทรีของซีพีเอฟกับนาข้าว ช่วยให้ต้นข้าวสมบูรณ์ในช่วงขาดน้ำและในช่วงที่ต้นข้าวแตกกอ วิธีการที่สาครนำน้ำปุ๋ยมาใช้ คือ นำน้ำปุ๋ยมาผสมกับน้ำฝนที่กักเก็บไว้ใส่ในแปลงนาเพื่อเพิ่มปุ๋ยให้ต้นข้าว ส่วนที่แปลงข้าวโพด น้ำปุ๋ยช่วยให้สามารถปลูกข้าวโพดได้ในช่วงแล้ง โดยจะปล่อยน้ำปุ๋ยจากฟาร์มลงในแปลงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของดิน ให้ต้นข้าวโพดดูดซึมน้ำปุ๋ยไปใช้ได้เลย ซึ่งหลังจากใช้น้ำปุ๋ยของฟาร์ม ช่วยประหยุดค่าปุ๋ยที่เคยใช้ในไร่ข้าวจาก 1 กระสอบต่อไร่ เหลือ 0.5 กระสอบต่อไร่ และแปลงข้าวโพดจากที่เคยต้องใช้ปุ๋ย 1.5 กระสอบต่อไร่ ลดเหลือเพียง 0.5 กระสอบต่อไร่ นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันในการสูบน้ำมารดข้าวและข้าวโพดที่ปลูก
"อรชร มาโง้ว" อายุ 58 ปี อาชีพทำสวน ปลูกผักสวนครัว ได้รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรปราจีนบุรี 1 มา 12 ปีแล้ว เพื่อรดแปลงผัก และเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มเพื่อใช้รดต้นโกโก้ 2 ไร่ อรชรบอกว่า น้ำปุ๋ยช่วยได้มาก ต้นโกโก้เติบโตได้ดี ในช่วงแล้งขาดน้ำก็ได้น้ำปุ๋ยมาช่วย เธอใช้น้ำปุ๋ยผสมกับน้ำฝนเพื่อรดต้นโกโก้เป็นการเพิ่มปุ๋ยภายในดิน และใช้น้ำปุ๋ยรดแปลงผักสวนครัวทุกวันแทนการใช้น้ำฝนและน้ำบ่อ น้ำปุ๋ยช่วยลดต้นทุนที่ต้องซื้อดินมาปลูกรองก่อนลงต้นโกโก้ จากเดิมที่ต้องใช้ดินปลูกรองก่อนลงต้น 15 กระสอบต่อไปไร่ ปัจจุบันคือใช้น้ำปุ๋ยแทน ไม่ต้องซื้อดินปลูกรองก่อนลงต้นแล้ว
"วรวิท แก้วสุนทร" อายุ 55 ปี อาชีพทำนาทำไร่ ได้รับน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงชำแหละสระแก้วของซีพีเอฟ เพื่อการปลูกอ้อยมาแล้ว 4 ปี หลังจากนำน้ำปุ๋ยมาใช้กับไร่อ้อย ช่วยให้อ้อยแตกกอได้ดีในช่วงแล้ง ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยจากปกติไร่ละ 10 ตัน เพิ่มเป็นไร่ละ 12 ตัน และยังช่วยรดต้นทุนค่าน้ำ ค่าปุ๋ย จากปกติที่จะต้องใส่ปุ๋ยเคมี 3 กระสอบต่อไร่ หลังจากได้น้ำปุ๋ยจากโรงชำแหละสระแก้ว ลดการใช้ปุ๋ยได้ 1 กระสอบต่อไร่ ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก
ศรัญญา แตงหวาน หรือ หวาน อายุ 29 ปี เกษตรกร ต.สระกระโจม อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี มีอาชีพปลูกฟักเขียวและฟักทอง สืบทอดอาชีพต่อจากรุ่นพ่อ คือ นายสัมฤทธิ์ แตงหวาน ซึ่งเป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรขุนนพรัตน์ของซีพีเอฟ มานานกว่า 19 ปี เป็นรุ่นแรกที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มมาใช้ หวาน เล่าว่า พ่อดูแลแปลงฟักเขียวและฟักทองที่ปลูกเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว และที่ผ่านมาได้รับน้ำใจจากซีพีเอฟปันน้ำปุ๋ยมาให้ใช้อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว พ่อแบ่งพื้นที่แปลงปลูกฟักเขียวให้เธอเป็นผู้ดูแลเองพื้นที่ 3 ไร่ ปัจจุบันก็ยังใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มของซีพีเอฟอยู่ รู้สึกดีใจและขอบคุณที่บริษัทฯ เอื้อเฟื้อน้ำปุ๋ยให้ใช้ พร้อมกันนี้ เธอเล่าด้วยว่ามีการนำน้ำปุ๋ยมาปรับใช้เพื่อให้เหมาะก้บแปลงฟักเขียว คือ นำน้ำปุ๋ยมาพักไว้ในบ่อและผสมกับน้ำก่อนที่จะนำมาใช้รดแปลงฟักเขียว ทำให้แปลงฟักได้ธาตุอาหารในน้ำปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ได้ผลผลิตดี ฟักลูกโตขายได้ราคา มีรายได้เพียงพอเลี้ยงดูตัวเองได้
นอกจากโครงการ "ปันน้ำปุ๋ยสู่ชุมชน" จะเอื้อประโยชน์สู่เกษตรกรในแง่ของการช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูกลงแล้ว โครงการดังกล่าวยังเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำในองค์กร และนำน้ำที่บำบัดแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีก กับเกษตรกรรอบฟาร์มและโรงงาน รวมทั้งยังร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมจากการที่เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit