ศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ CMC เร่งสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อ"กำกับติดตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) ในสถานประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม" เน้นย้ำกลุ่มอุตสาหกรรม 10 ประเภท ที่พบการติดเชื้อสูงสุดในปี 2564 มุ่งลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และป้องกันการเกิดคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากการหยุดกิจการ
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากสายพันธุ์โอไมครอนที่สามารถแพร่กระจายและติดต่อได้เร็วขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวัง และขับเคลื่อนมาตรการทางสาธารณสุขโดยเฉพาะมาตรการ Bubble & Seal เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเกิดคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม จนเป็นเหตุให้ต้องปิดกิจการส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงานระลอกใหม่ (เดือนมกราคม-6 มีนาคม 2565) พบโรงงานที่มีการระบาดจำนวน 239 โรงงาน ผู้ติดเชื้อรวม 3,264 คน มีโรงงานที่ร่วมมาตรการ Bubble and Seal จำนวน 2,338 โรงงาน ซึ่งเกินเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1500 โรงงาน โดยจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมรวมสูงสุด 5 จังหวัดแรกได้แก่ ชลบุรี สมุทรปราการ ระยอง ภูเก็ต และนครราชสีมา ซึ่งอุตสาหกรรม 10 ประเภท ที่พบการติดเชื้อสูงสุดในปี2564 ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมอาหาร 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 3) อุตสาหกรรมโลหะ 4) อุตสาหกรรมพลาสติก 5) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 6) อุตสาหกรรมรถยนต์ 7) อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ 8) อุตสาหกรรมยาง 9) อุตสาหกรรมก่อสร้าง และ 10) อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือทางการแพทย์
ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดยศูนย์ CMC ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมทุกแห่ง แจ้งประชาสัมพันธ์พร้อมส่งหนังสือไปยังหน่วยงานในสังกัดและสถานประกอบการโรงงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เรื่อง "กำกับติดตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) ในสถานประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม"เพื่อขอความร่วมมือและควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัด โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากการหยุดกิจการ โดยให้ดำเนินการในมาตรการสำคัญ อาทิ เร่งรัดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมทุกขนาดในพื้นที่ความรับผิดชอบประเมินตนเองด้วย Platform Online Thai Stop Covid Plus พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำในรูปแบบ Coaching/Training แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน เกี่ยวกับการจัดทำมาตรการ Bubble & Seal เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ลดความเสี่ยงแพร่ระบาด ตลอดจน เน้นย้ำกลุ่มอุตสาหกรรม 10 ประเภทที่พบการติดเชื้อสูงสุดในปี2564 ให้จัดทำตามมาตรการ Bubble & Seal อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้ฝ่ายเลขาฯ ศูนย์ CMC ทราบ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
และแนะนำให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T D-Distancing : อยู่ห่างไว้ M-Mask wearing : ใส่แมสก์กัน H-Hand wash : หมั่นล้างมือ T - Testing : ตรวจวัดอุณหภูมิ และ T-Thai Cha na : ใช้แอปไทยชนะ อย่างเคร่งครัดควบคู่กัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง อีกทั้งไม่ให้โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit