เมื่อถามถึงอาชีพอะไรเรียนแล้วร่ำรวยในโลกยุคใหม่ แทบจะไม่มีคำตอบใดเลยที่เอ่ยถึงอาชีพเกษตรกร ทั้งๆ ที่เป็นอาชีพที่สร้างแหล่งอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของมวลมนุษยชาติ
จนกลายเป็นวิกฤติทางการศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน เมื่อพบว่าหลักสูตรเกษตรศาสตร์ส่วนใหญ่ในประเทศมีจำนวนนักศึกษาลดลงทุกปี เมื่อเกิดอาชีพใหม่ๆ ที่ทำรายได้ดีกว่าเกิดขึ้นตามยุคสมัย แต่ตราบใดที่ประชากรโลกยังคงบริโภคพืชพันธุ์ธัญญาหาร ตลอดจนพืชผักผลไม้อาชีพเกษตรกรก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เนื่องด้วยเมื่อประชากรโลกได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพดี คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
อาจารย์ ดร.มะลิวัลย์ แซ่อุ้ย อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดตั้งหลักสูตรฯ ว่า เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชน โดยการออกแบบหลักสูตรให้นักศึกษาได้มีกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ และโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มีการลงพื้นที่จริงในการเรียนรู้และร่วมแก้ไขปัญหาเกษตรในชุมชน ซึ่งการเรียนเกษตรให้ได้ผลดี จะต้องลงมือฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง โดยวิทยาเขตฯ ได้ใช้วิธีการสอนแบบ "เกษตรปราณีต" ที่ใช้พื้นที่ไม่มากในการทำแปลงเกษตรสาธิตให้นักศึกษาได้เรียนรู้พร้อมลงมือทำด้วยตัวเองในทุกกระบวนการของการทำการเกษตร แม้กระทั่งการฝึกให้นักศึกษาได้รดน้ำพืชด้วยตัวเอง โดยไม่อาศัยระบบอัตโนมัติ เพื่อให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกร และได้เรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง
แม้กระแสทางด้านเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นการทำเกษตรที่ปฏิเสธการใช้สารเคมีในทุกรูปแบบจะมาแรงในโลกยุคใหม่ที่ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น แต่หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเน้นการให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งในระบบเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมี เพื่อประเมินสุขภาวะและความยั่งยืนของการเกษตร
"เป็นความน้อยใจในแวดวงเกษตรไทย ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่สนใจเรียนเกษตรกันน้อยลง และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงทำการเกษตรโดยขาดความรู้ทางหลักวิชาการสู่การปฏิบัติอย่างเหมาะสม ที่ถูกต้อง อย่างเช่นกรณีที่มีกระแสต่อต้านการใช้สารเคมีในการทำเกษตรว่า เกิดจากเกษตรกรเลือกใช้แต่สารเคมี แต่สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาอยู่ที่การใช้ที่ไม่ถูกวิธี ทำให้เกษตรกรไทยต้องติดอยู่ในวังวนแห่งความลำบากยากจนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ประสบภาวะขาดทุนจากการต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีมาใช้ในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกำจัดศัตรูพืชที่ดื้อยา"
"การเลือกใช้ปุ๋ยก็เช่นกัน ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้แบบผสมผสานระหว่างปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ เช่นกรณีต้องการปรับปรุงคุณภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก หากใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์อาจต้องใช้เวลานานจนไม่ทันรอบของการปลูกพืชตามฤดูกาล แต่หากรู้วิธี สามารถนำปุ๋ยเคมีมาใช้ผสมผสานกับปุ๋ยอินทรีย์ได้อย่างถูกวิธี ก็จะทำให้ได้ผลผลิตตามเวลาและปริมาณที่ต้องการได้" อาจารย์ ดร.มะลิวัลย์ แซ่อุ้ย กล่าว
นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ในอนาคตจะได้มีการพัฒนาพื้นที่เกษตรในชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษา โดยหวังว่าจะเป็นจุดเชื่อมต่อจากแปลงของเกษตรกรท้องถิ่น สู่การเป็นผู้นำชุมชนที่สามารถพลิกฟื้นผืนแผ่นดินแห้งแล้ง สู่แผ่นดินทองของไทยมีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ TCAS65 รอบ 2 (Quota) นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจสามารถสมัครได้ทาง https://tcas.mahidol.ac.th ตั้งแต่บัดนี้ - 20 เมษายน 2565
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit