นายสันติ ธนะนิรันดร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนบัวหลวงจัดทำ B-Select เพื่อให้คำแนะนำในการเลือกกองทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดในแต่ละช่วงเวลา (Tactical call) โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้ มองว่า เศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่เท่ากัน ซึ่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นก็มีทิศทางสอดคล้องกับนโยบายการเงินและการคลังที่ยังคงเอื้ออำนวยให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงคัดเลือก 4 กองทุนเด่นที่สอดคล้องกับแนวโน้มนี้นำเสนอนักลงทุน ในไตรมาสสี่ปีนี้
กองทุนเด่นเหล่านี้ ประกอบด้วย กองทุนเปิดบัวหลวงยูเอสอัลฟ่า (B-USALPHA) ที่เน้นลงทุนในหุ้นเติบโตของสหรัฐฯ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH) ที่เน้นลงทุนในหุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นญี่ปุ่น (B-NIPPON) ที่ไปลงทุนในหุ้นบริษัทญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มเติบโตสูง และมีความสามารถในการทำกำไรสูง และกองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน (B-SIP) เน้นลงทุนในบริษัทที่สร้างผล เชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม และพลังงานสะอาด
นายสันติ กล่าวว่า สาเหตุที่แนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผ่าน B-USALPHA เนื่องจาก ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสปรับขึ้นต่อได้ จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ นโยบายการคลังของรัฐบาลที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกมา มูลค่าเกือบ 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย วงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับลงทุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันกับจีน รวมทั้งแก้ปัญหาห่วงโซ่การผลิต วงเงิน 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ เช่น การขนส่ง ถนน รถไฟ รถยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว พลังงานสะอาด และยังมีวงเงิน 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่กำลังรอสภาคองเกรสอนุมัติ เป็นการลงทุนตลอดระยะเวลา 10 ปี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร เช่น ยกเว้นภาษีสำหรับผู้มีบุตร ให้การศึกษาฟรี การเข้าถึงการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาคเอกชน การเร่งเติมสินค้าคงคลัง (Inventory restocking) และปริมาณเงินออมของครัวเรือนที่สูงอยู่ด้วย
ในส่วนของ B-INNOTECH กองทุนบัวหลวงมองว่า หุ้นเทคโนโลยียังไปได้ต่อในระยะยาว โดยหุ้นเทคฯ เวลานี้ไม่ได้แพงเกินไป หากเปรียบเทียบหุ้นเทคฯ ยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน ได้แก่ Apple, Amazon, Microsoft, Alphabet และ Facebook พบว่า มีราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) เฉลี่ยที่ 30-40 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่า P/E ของหุ้นเทคฯ ยักษ์ใหญ่ 5 อันดับ ในช่วงปี 2000 ที่เกิดปัญหาฟองสบู่หุ้นเทค โดยในเวลานั้นมี P/E สูงถึง 100 เท่า
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนบัวหลวงมองว่า ในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด เริ่มดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น แต่ประเทศที่ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายคือ ยุโรปและญี่ปุ่น โดยตลาดที่น่าสนใจมากก็คือ ญี่ปุ่น ที่เวลานี้ตลาดหุ้นยังปรับตัวขึ้นล่าช้ากว่าตลาดอื่นๆ มี P/E ที่ถูกกว่า S&P500 แต่มีแนวโน้มกำไรในปี 2022 ที่เติบโตในระดับเท่าๆ กับอเมริกา ด้วยเหตุนี้ จึงแนะนำให้ลงทุนผ่าน B-NIPPON ขณะเดียวกันก็แนะนำการลงทุนผ่าน B-SIP เนื่องจากกองทุนนี้ลงทุนในกิจการที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการสร้างผลบวกต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์ระยะยาวที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะพลังงานสะอาด เพื่อเดินหน้าบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050
"กองทุนบัวหลวงมักจะแนะนำเสมอว่า ไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมเป็นเช่นไร นักลงทุนก็ควร Stay Invested คือ ลงทุนอย่างต่อเนื่อง อย่าตื่นตกใจกับเหตุการณ์ระยะสั้นที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อแนวโน้มระยะยาว แต่ให้มองเป็นโอกาสการลงทุน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอาจจะปรับพอร์ตการลงทุนบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งก็สามารถใช้คำแนะนำ B-Select นี้ เป็นแนวทางในการพิจารณาปรับพอร์ตลงทุน เพิ่มน้ำหนักในส่วนของกองทุนที่แนะนำได้" นายสันติ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit