ทีเส็บจับมือพันธมิตร เดินหน้างานแสดงสินค้าในประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

30 Sep 2021

ทีเส็บเปิดแผนขับเคลื่อนงานแสดงสินค้าในประเทศ จับมือสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) TEA และเครือข่ายพันธมิตรด้านไมซ์ ร่วมส่งเสริมการตลาดจัดงานเสวนาออนไลน์ 3 ภูมิภาค เผยกลยุทธ์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าในประเทศยุควิถีใหม่ เชื่อมโยงเมืองไมซ์ ดันการจัดงานแสดงสินค้ากระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ภูมิภาค

ทีเส็บจับมือพันธมิตร เดินหน้างานแสดงสินค้าในประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า "ปัจจุบันมีงานแสดงสินค้าในประเทศทุกภูมิภาคที่มีแผนการจัดงานประจำปีและสามารถจัดงานได้ทันที เมื่อประเทศเริ่มมีความพร้อม "การจัดงานแสดงสินค้า" จึงเป็นแพลตฟอร์มเจรจาธุรกิจสำคัญที่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น ทีเส็บเตรียมการเร่งกระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ เปิดแผนขับเคลื่อนงานแสดงสินค้าในประเทศ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ภายใต้กลยุทธ์การเสริมความแกร่งระดับชาติ เตรียมส่งเสริมการจัดงานในจังหวัดและเมืองไมซ์ที่มีศักยภาพความพร้อม มุ่งสร้างงานและสนับสนุนงานตามอัตลักษณ์และจุดเด่นของจังหวัด พร้อมกระจายการจัดงานสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะการจัดงานแสดงสินค้าแบบ B2B เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการจัดงานแสดงสินค้าก่อให้เกิดธุรกรรมทางเศรษฐกิจในระยะเวลาอันสั้น"

"สำหรับเป้าหมายการส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศปี 2565 ทีเส็บจะมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น ทั้งการสนับสนุนงานแสดงสินค้าใหม่ และการยกระดับงานแสดงสินค้าเดิม มุ่งเน้นงานใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก คือ 1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม รวมถึงกลุ่มดิจิทัลเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว 4. กลุ่มพลังงานทางเลือก รถยนต์ โลจิสติกส์ และคลังสินค้า 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม สินค้าและบริการที่มีศักยภาพของภูมิภาค

ทีเส็บผลักดันงานแสดงสินค้าในประเทศผ่านแคมเปญส่งเสริมการตลาด "Empowering Thailand Exhibition" โดยปรับรูปแบบการสนับสนุนตอบโจทย์ความต้องการผู้จัดงานและสอดรับสถานการณ์การจัดงานในยุควิถีใหม่ ครอบคลุมทุกการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบการจัดงานจริง (Physical Exhibition) การจัดงานผสมผสานออนไลน์ร่วมกับการจัดงานจริง (Hybrid Exhibition) และการจัดงานออนไลน์ (Virtual Exhibition) แบ่งการสนับสนุนเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านงบประมาณและส่งเสริมการตลาด ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้านความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรในธุรกิจไมซ์ และด้านการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐาน

"Domestic Exhibition Recovery" แพ็กเกจสนับสนุนเร่งส่งเสริมตลาดงานแสดงสินค้าในประเทศ สนับสนุนผู้จัดงานผ่าน 2 แพ็กเกจ ประกอบด้วย 1. แพ็กเกจ "Regional Best Show" สนับสนุนงานแสดงสินค้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก 5 กลุ่มอุตสาหกรรม และเป็นงานที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจแก่ภูมิภาค ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือจากเครือข่ายภาคี EMTEX ไม่ต่ำกว่า 3 หน่วยงาน ด้วยวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท และ 2. แพ็กเกจ "Gear Up Exhibition" สนับสนุนงานแสดงสินค้าทั่วไปในวงเงินไม่เกิน 700,000 บาท สำหรับผู้ขอรับการสนับสนุนจะดำเนินการตามเงื่อนไขและการพิจารณาที่กำหนด สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]

ด้านนายประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) กล่าวว่า "สิ่งที่พวกเราในฐานะของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าได้ปฏิบัติกันมาตามมาตรการปกติใหม่หรือ (New Normal) ในปีที่ผ่านมา จะกลายเป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติกันต่อเนื่องต่อไป พร้อมด้วยการควบคุมจากมาตรการเพิ่มเติมในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงจะเป็นมาตรการปกติปัจจุบัน (Now Normal) ไปแล้ว และจะต้องคงอยู่กับเราไปอีกระยะยาว เพื่อทำให้กิจการและกิจกรรมของอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าของไทย สามารถอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้อย่างกลมกลืน เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะต้องดำเนินต่อไป และการจัดงานแสดงสินค้า หรือการประชุมต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น จะต้องทำหน้าที่ต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์โควิดจะหมดไปหรือไม่ก็ตาม สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ได้วางแนวทางให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้อย่างปลอดภัย ด้วยมาตรการปกติปัจจุบัน พร้อมทั้งการนำนวัตกรรม และวิทยาการด้านดิจิทัลที่ผู้ประกอบการได้ปรับใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มาเป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมการแสดงสินค้าสามารถกลับมาทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้อย่างสมบูรณ์"

นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า "กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ปรับกลยุทธ์การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปี 2563 ที่ทำให้การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบปกติในสถานที่จริงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ โดยกรมเป็นหน่วยงานแรกของภาครัฐไทยที่ได้ริเริ่มปรับรูปแบบการจัดงาน สู่งานแสดงสินค้าเสมือนจริง พร้อมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจทางออนไลน์ และได้พัฒนาการจัดงานในรูปแบบไฮบริด ที่ผสมผสานการจัดงานแบบพบหน้าร่วมกับแบบออนไลน์ ซึ่งทำให้ที่ผ่านมา กรมยังสามารถใช้เวทีงานแสดงสินค้าในการผลักดันการส่งออกโดยไม่สะดุด สำหรับการจัดงานในยุควิถีใหม่ ซึ่งเป็นโลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีดิจิทัล คือ วิถีชีวิต กรมจะเดินหน้าการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบเสมือนจริงต่อไปควบคู่ไปกับงานในรูปแบบออฟไลน์ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ โดยจะเน้นมาตรการที่เข้มงวดเพื่อความปลอดภัย"

เพื่อร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศยุควิถีใหม่ ทีเส็บจึงร่วมกับสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA จัดงานเสวนาออนไลน์ "สถานการณ์โควิดวันนี้ งานแสดงสินค้าต้องทำอะไรก่อน" ใน 3 ภูมิภาค คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และสงขลา โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ วันที่ 29 กันยายน 2564 ในหัวข้อ "ก้าวย่างใหม่ของงานแสดงสินค้าไทย" ดำเนินการร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านไมซ์นำเสนอมุมมองการส่งเสริมอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าในประเทศยุควิถีใหม่ พร้อมทั้งกลยุทธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยงานแสดงสินค้าในปี 2565 ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการไมซ์ ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมฟังเสวนากว่า 500 คน

กิจกรรมในงานเสวนาออนไลน์ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมมากมาย ประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "เจาะยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ขับเคลื่อนก้าวไกลด้วยงานแสดงสินค้า" โดยนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ และการบรรยายในหัวข้อ "ปรับเข็มทิศเอ็กซ์ฮิบิชั่นไทย โอกาสธุรกิจใหม่ ขับเคลื่อนไมซ์ยั่งยืน" โดยนางสาวสุรัชสานุ์ ทองมี ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ "เทรนด์นวัตกรรมใหม่ กลยุทธ์ยกระดับ เสริมทัพงานแสดงสินค้าไทย" โดยนายประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) "New Direction of DITP's Trade Show" โดยนายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ "Technics of Hosting Virtual Exhibition Successfully" โดยนางสาวณัฐิยา สุจินดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ "ฉลาดใช้ Big Data เพื่อให้งานแสดงสินค้าประสบความสำเร็จ (Building Experience)" โดยนายมณเฑียร วิจิตรสาระวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิว มีเดีย เอ็กซ์ จำกัด

HTML::image(