ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ชี้เทรนด์อาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Food) เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสารอาหารและรูปแบบอาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น คาดมูลค่าตลาด Personalized Food ในไทยสามารถเติบโตได้เฉลี่ยสูงถึงปีละ 14.2% หรือแตะระดับ 5.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2025 แนะผู้ประกอบการบุกตลาดผู้บริโภคที่มีความเฉพาะระดับกลุ่มบุคคลก่อน ได้แก่ กลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก กลุ่มผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งควรสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในด้านสุขภาพและโภชนาการ
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยุคใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งการผนวกกันของ 2 เทคโนโลยีที่ร้อนแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ FoodTech และ HealthTech จึงทำให้เกิดเทรนด์อาหารที่เรียกว่า Personalized Food หรืออาหารเฉพาะบุคคล ซึ่งหมายถึง อาหารที่มีสารอาหารที่จำเป็นและเหมาะสมกับการใช้ชีวิต สุขภาพ และพันธุกรรมในแต่ละบุคคล เพื่อตอบสนองสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน และในที่นี้ยังหมายรวมถึงอาหารบุคคลเฉพาะกลุ่มด้วย เช่น อาหารสำหรับกลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก และกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น
"ตลาดนี้มีปัจจัยหนุนและมีโอกาสเติบโตได้อีกมากจากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการสารอาหารที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น อีกทั้ง FoodTech, HealthTech ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านอาหารที่น่าสนใจมากมาย ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง นอกจากนี้ การระบาดของ COVID-19 เป็นตัวเร่งทำให้คนให้ความสำคัญกับอาหารที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคลมากขึ้น สำหรับประเทศไทย คาดว่ามูลค่าตลาด Personalized Food อาจแตะระดับ 5.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2025 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 14.2%"
นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า การทำตลาด Personalized Food ในไทย ควรเริ่มต้นจากตลาด Personalized Food ที่ผลิตมาเฉพาะสำหรับกลุ่มบุคคลก่อน โดยมองว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก กลุ่มผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วน Personalized Food สำหรับเฉพาะบุคคลแม้จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เฉพาะเจาะจงมากกว่า และทำให้ผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะจ่ายสูงกว่าสินค้าปกติ 40-50% แต่จากขนาดตลาดที่ยังไม่ใหญ่นัก ทำให้ยังต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนควบคู่ไปด้วย
"ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่น่าจะมองหาโอกาสในการเข้าสู่ตลาดนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และธุรกิจร้านอาหารสุขภาพ เนื่องจากสามารถเข้าสู่ตลาดได้ไม่ยากนัก เพราะสามารถต่อยอดได้จากธุรกิจเดิม ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารตั้งแต่ระดับ SME ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่"
นายปราโมทย์ วัฒนานุสาร นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า จากการที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวัฎจักรธุรกิจ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ถึงคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากนัก ดังนั้น ปัจจัยที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เข้าสู่ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ หรือชี้ให้เห็นว่าอาหารเฉพาะบุคคลมีความจำเป็นหรือส่งผลดีอย่างไรกับผู้บริโภค รวมทั้งควรมีการสร้างแรงจูงใจ แก่ผู้บริโภคในการเข้าถึงการตรวจสุขภาพ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในด้านสุขภาพและโภชนาการซึ่งประกอบด้วย 1. ผู้ให้บริการตรวจวิเคราะห์สุขภาพ (Testing Service) 2. ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและอาหาร (Health and Nutrition Specialist) 3. ผู้ผลิตสารอาหาร (Food Ingredient) ซึ่งใน 2 กลุ่มแรกนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้สะดวกขึ้น และสุดท้าย ผู้ประกอบการยังต้องติดตามเทรนด์ตลาดอาหารเฉพาะบุคคล เพื่อจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit