สมาพันธ์ทันตแพทย์โลกเผยการจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาทางทันตกรรมเพิ่มขึ้น 22% ในอังกฤษช่วงปีแรกที่โควิด-19 ระบาด

18 Nov 2021

ขณะที่การจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคอื่น ๆ ลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน

การจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาทางทันตกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 20% ในปี 2563 เนื่องจากข้อจำกัดในสถานการณ์โควิด-19 หลังการจ่ายยาปฏิชีวนะลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี โดยทันตกรรมเป็นภาคส่วนเดียวภายใต้บริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) ซึ่งได้รับงบประมาณจากรัฐบาลอังกฤษ ที่มีการจ่ายยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อสถานบริการทางทันตกรรมต้องปิดให้บริการระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563 ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดระลอกแรก และลดลงอย่างเชื่องช้าหลังจากนั้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้รับการเปิดเผยโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะถึงสัปดาห์รณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือ World Antimicrobial Awareness (AMR) Week ขององค์การอนามัยโลก

"วิกฤตโควิด-19 นั้นโหดร้ายรุนแรงมาก" เวนดี้ ทอมป์สัน สมาชิกคณะทำงานรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะของสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก (FDI World Dental Federation) กล่าว

"แต่การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อชดเชยการไม่ได้รับการรักษาทางทันตกรรมอย่างเร่งด่วนถือเป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและควรหลีกเลี่ยงหากเป็นไปได้ เราจำเป็นต้องเริ่มให้การรักษาผู้ที่มีอาการปวดฟันหรือติดเชื้ออย่างรุนแรง ไม่ใช่ให้ยาแก่คนไข้"

แม้ช่วงที่เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิปี 2564 ชาวอังกฤษ 4 ใน 5 คนระบุว่ายังคงประสบความยากลำบากในการเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรมที่ทันท่วงที โดยหน่วยงาน Healthwatch England รายงานว่า ทางหน่วยงานต้องรับมือกับปัญหาด้านทันตกรรมมากเป็นอันดับหนึ่งในขณะนี้ โดยมีการร้องเรียนจากประชาชนสูงขึ้นเกือบ 8 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563

โดยปกติแล้วจะมีการจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อรับมือกับการติดเชื้อรุนแรงควบคู่ไปกับการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ ส่วนการรักษาทางทันตกรรมด้วยยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียวพบได้น้อยมาก แต่เมื่อปีที่แล้วมีการจำกัดการนัดพบทันตแพทย์แบบต่อหน้า ส่งผลให้มีการจ่ายยาปฏิชีวนะแทนการทำหัตถการที่โดยปกติจะมีความรวดเร็วและปลอดภัยกว่า

"การจ่ายยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นถือเป็นปัญหา เพราะจะทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะและแพร่กระจาย" คุณทอมป์สัน กล่าว

ภายใน 30 ปีข้างหน้า ผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาจะมีมากกว่าผู้ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง หากไม่มีการจัดการกับปัญหาตั้งแต่วันนี้ โดยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าการดื้อยาปฏิชีวนะจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลกภายในปี 2593

"เราต้องมีพันธกิจที่ชัดเจนและเป็นสาธารณะในการรับมือกับการดื้อยาปฏิชีวนะ ตลอดจนต้องมีการสื่อสารต่อสาธารณชนว่าการใช้ยาปฏิชีวนะทางทันตกรรมอย่างเหมาะสมเป็นอย่างไรและมีผลอย่างไร" ศาสตราจารย์ อิเซน เบน ยาห์ย่า ประธานสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก และคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Medicine University Mohammed VI of Health Science ในเมืองคาซาบลังกา ประเทศโมร็อกโก กล่าว

"และที่สำคัญไม่แพ้กัน เราต้องสนับสนุนให้ทันตกรรมได้รับการบรรจุในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาแนวทางปฏิบัติโดยอิงหลักฐานในส่วนของการใช้ยาปฏิชีวนะทางทันตกรรม พร้อมกับตรวจสอบการใช้ยาปฏิชีวนะทางทันตกรรมด้วย"

ดูรูปภาพประกอบได้ที่ AP Images (http://www.apimages.com)

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

ไมเคิล เคสเลอร์
ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์ของสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก
มือถือ: + 34 655 792 699
อีเมล: [email protected]
ทวิตเตอร์: @mickessler

เกี่ยวกับสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก
สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก เป็นตัวแทนของทันตแพทย์กว่า 1 ล้านคนทั่วโลก พันธกิจขององค์กรคือการเป็นผู้นำในการทำให้ประชากรโลกมีสุขภาพช่องปากที่ดี สมาชิกขององค์กรประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและสมาคมทันตกรรมระดับชาติกว่า 200 แห่ง ในกว่า 130 ประเทศ