โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ชูความสำเร็จการดำเนินงานผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีการทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศระหว่างปีพ.ศ. 2559 - 2564 โดยโครงการ RAC NAMA ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ จำนวน 10 ราย หันมาผลิตอุปกรณ์การทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้น จนถึงปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กว่า 150,000 เครื่องออกสู่ตลาดภายในประเทศ รวมถึงส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ คิดเป็นปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 350,000 tCO2eq โดยคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ผลิตภัณฑ์ตู้แช่ดังกล่าวจะมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศกว่าร้อยละ 90
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้พัฒนาหลักสูตรและจัดฝึกอบรมครูช่างจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ตลอดจนหัวหน้าช่างจากบริษัทผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 222 ราย ในเรื่องการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดในหน่วยงานและบริษัทต่อไป รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมจำนวน 8 แห่งทั่วประเทศ และปรับปรุงห้องทดสอบสำหรับเทคโนโลยีการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของเครื่องปรับอากาศที่ครอบคลุมสารทำความเย็นที่ติดไฟ และรองรับผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่กำลังเข้าสู่ตลาดในอนาคต โดยความสำเร็จจากการดำเนินโครงการฯ ตลอดจนแผนยุทธศาสตร์เพื่อการต่อยอด ได้ถูกนำเสนอต่อผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กพร. สอศ. สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ในการประชุมออนไลน์ (Closing Webinar)
เพื่อเป็นการสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โครงการ RAC NAMA ได้ดำเนินการส่งเสริมการลดการผลิตและการใช้สารทำความเย็นชนิดไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ในระบบเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ด้วยมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูง (Global Warming Potentials: GWP) และมุ่งมั่นผลักดันการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติหรือ Green Cooling ซึ่งไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนด้วยค่าศักยภาพการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Ozone Depleting Potential: ODP) เท่ากับศูนย์ และค่า GWP ที่ต่ำมาก โดยร่วมมือกับ สผ. พพ. กฟผ. และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในฐานะผู้ร่วมหลักในการดำเนินโครงการ
ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า "ปัจจุบัน สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของภาคระบบปรับอากาศและการทำความเย็นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 และยังเป็นภาคส่วนที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง ดังนั้น การปรับปรุงเทคโนโลยีจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน และผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้แสดงเจตจำนงผ่านข้อเสนอการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) โดยโครงการ RAC NAMA ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมเทคโนโลยีการทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ที่ผสมผสานรูปแบบการสร้างโอกาสทางธุรกิจ การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ร่วมกับการจัดการปัญหาทางสิ่งแวดล้อมนั้น ถือเป็นการดำเนินกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในภาคส่วนการทำความเย็นของประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนในการบรรลุเป้าหมาย NDC ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นจึงขอใช้โอกาสนี้ ในการขอบคุณกองทุน NAMA Facility ผ่านรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสหราชอาณาจักร ที่ได้สนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการ RAC NAMA เพื่อการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมกันดำเนินการปกป้องสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมด้วยกันต่อไป"
ดร. ฟิลิปป์ พิชเกอะ ผู้อำนวยการโครงการ RAC NAMA องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า "โครงการฯ มุ่งเน้นการดำเนินงานทั้งเชิงนโยบาย เชิงเทคนิค และเชิงการเงิน โดยพิจารณาทั้งในด้านอุปสงค์ อุปทาน และร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับภาคส่วนอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น ตลอดจนกลุ่มผู้ใช้ภาคธุรกิจ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เราได้ดำเนินงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อความสอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติที่ดีและเป็นสากล การปรับปรุงฉลากประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดตั้งระบบการวัดผล การรายงานผล และการทวนสอบ (MRV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรายงานผลที่เกี่ยวข้องตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้ และสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิต ผลสำเร็จทั้งหมดนี้ โดยเฉพาะการเติบโตของภาคีที่เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวในประเทศไทยนั้น ต้องอาศัยความพยายามในการดำเนินการอย่างยิ่งยวด จึงขอใช้โอกาสอันดีนี้ในการขอบคุณภาคส่วนต่างๆ ที่ได้ร่วมมือกันทำให้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวเกิดขึ้นและโครงการ RAC NAMA สำเร็จลุล่วง"
คุณสมใจ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. กล่าวว่า "ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน RAC NAMA จำนวน 8.3 ล้านยูโร (ประมาณ 300 ล้านบาท) ในนามของรัฐบาลไทย ซึ่งเครื่องมือทางการเงินที่เกี่ยวข้องได้ถูกนำมาปรับใช้สำหรับทั้งห่วงโซ่อุปสงค์ อุปทาน และภาคบริการในการสนับสนุนให้ผู้ผลิตหันมาใช้ผลิตอุปกรณ์ทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ส่งเสริมความต้องการของผู้ใช้ต่ออุปกรณ์ทำความเย็น พัฒนาศักยภาพของช่างเทคนิค รวมถึงเตรียมความพร้อมห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเพื่อรองรับความต้องการในระยะยาว"
"กฟผ. รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมริเริ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) และสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว ในอนาคตข้างหน้า กฟผ. จะนำความสำเร็จ ประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ได้จากการจัดการกองทุน RAC NAMA ไปใช้ในการบริหารจัดการกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (Cooling Innovation Fund: CIF) ที่จะอยู่ภายใต้การกำกับของ กฟผ. เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงตลาดไปสู่เทคโนโลยีการทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ผ่านสารทำความเย็นธรรมชาติ โดยกองทุน CIF มีเงินทุนรวมประมาณ 180 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มออกมาตรการสนับสนุนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ กฟผ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมืออันดีกับทุกหน่วยงาน ณ ที่นี้ต่อไป" คุณสมใจ กล่าวเพิ่มเติม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit