ผลสำรวจผู้เข้าร่วมสัมมนาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม ยังมีความล่าช้า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจาก "PacRim" ชี้ความท้าทายหลักอยู่ที่การปรับเปลี่ยนมายด์เซตของผู้นำ และวัฒนธรรมองค์กรมากกว่าโจทย์ด้านเทคโนโลยี
ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาสดออนไลน์ "Leadership Actions: From Digital Transformation to Organizational Transformation" จัดโดย "Human Capital Management Club" สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ร่วมกับ "PacRim" และ "AMPOS" ดำเนินรายการโดย คุณเพ็ญศรี สุธีรศานต์ เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ต่างเห็นพ้องกันว่าการทำ "ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม" มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ
โดยมากกว่าหนึ่งในสาม (36%) โหวตให้ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม มีความสำคัญสูงสุดด้วยคะแนนเต็ม 10 ขณะที่ 56% ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญในระดับ 8 และ 9 และที่เหลือมีเพียง 9% ที่ให้ความสำคัญในระดับ 7
เมื่อถามถึงความเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม ส่วนใหญ่ หรือ 80% ของผู้ทำแบบสอบถาม มองว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังมีขึ้นในอัตราความเร็วสูงสุด (ระดับ 9 และ 10)
อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันเมื่อถามถึงความเร็วของการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร เกือบ 1 ใน 3 (29%) ให้คะแนนตนเองแค่ในระดับ 5 และกว่าครึ่งหนึ่ง (56%) ให้คะแนนความเร็วในการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ภายในองค์กรของตนเองในระดับ 6-8 และที่เหลือประมาณ 15% ให้คะแนนในระดับ 2-4 เท่านั้น (ดูรายละเอียดผลการสำรวจในภาพกราฟฟิก)
โดยเมื่อถามถึงความท้าทายสูงสุดในการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (53%) ระบุว่าคือขีดความสามารถของผู้นำ (Leadership Capability) รองลงมาคือกลยุทธ์และทิศทางของธุรกิจ (49%) มายด์เซตและทัศนคติ (44%) ทักษะและขีดความสามารถของคนในองค์กร (33%) การเลือกเทคโนโลยี (27%) วัฒนธรรมองค์กร (27%)
ในส่วนของปัจจัยรองๆ ได้แก่ กระบวนการธุรกิจ (24%) ความพร้อมด้านข้อมูล (Data Readiness) (24%) ขณะที่ "การลงมือปฏิบัติความริเริ่มด้านดิจิทัล" (Digital Initiative Implementation/Execution) รวมถึงงบประมาณและทรัพยากร ถูกมองว่ามีความท้าทายน้อยที่สุดด้วยระดับคะแนนเท่ากันที่ 11%
คุณพรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ "PacRim" (www.pacrimgroup.com) บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำและวัฒนธรรมองค์กรชั้นนำของประเทศไทยกล่าวว่า ผลการสำรวจนี้ชี้ชัดว่าองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นจากภายนอกได้ โดยการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ให้ประสบผลสำเร็จนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ของธุรกิจ ไม่ใช่เริ่มต้นที่เทคโนโลยีหรืออย่างอื่น
"เชื่อว่าเทคโนโลยีจะไม่ได้เข้ามาแทนในทุกเรื่อง แต่จะเข้ามาเอางานน่าเบื่อของคนไปทำ แล้วเราจะมีเวลาไปทำในสิ่งที่มีคุณค่าและท้าทายกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวผู้นำ ขีดความสามารถทักษะ กรอบความคิด และวัฒนธรรมองค์กรก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วย"
จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับลูกค้าในเรื่อง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่นเราพบว่า "ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม กับ การทรานส์ฟอร์มองค์กร สองเรื่องนี้คือเรื่องเดียวกัน เพราะเป็นสิ่งที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน จึงควรต้องทำไปด้วยกัน และส่วนที่ยากที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนและวัฒนธรรมองค์กร"
คุณบัญชา ธรรมารุ่งเรือง ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AMPOS Solutions (https://www.ampostech.com/) ผู้เชี่ยวชาญการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน กล่าวว่า กรอบการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน จะประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 5 ด้านได้แก่ 1) ลูกค้า 2) เทคโนโลยี 3) ข้อมูล 4) กระบวนการ และ 5) คนและวัฒนธรรมองค์กร
โดยการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน จะต้องเริ่มจากการวางกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อสร้างความแตกต่าง ขีดความสามารถและนวัตกรรมที่เหนือกว่าคู่แข่ง โดยมี "Trigger Point" ที่ลูกค้าอันเป็นแก่นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
จากนั้นจึงเลือกเทคโนโลยี และนำเอาข้อมูลมาใช้เพื่อการตัดสินใจเชิงธุรกิจ ซึ่งจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการทำงานต่างๆ อาทิ การนำเอา CRM ซอฟต์แวร์มาใช้จะบังคับทางอ้อมให้พนักงานขายต้องคีย์ข้อมูล เปลี่ยนจากการใช้ความรู้สึกมาเป็นการใช้ข้อมูลนำการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงกระบวนการหลังบ้านอื่นๆ ด้วย เช่น โลจิสติกส์และการจัดส่งสินค้า
อย่างไรก็ตามซีอีโอ AMPOS เห็นพ้องกับคุณพรทิพย์ว่า สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มายด์เซต และสไตล์การนำของผู้นำในองค์กร ให้สอดคล้องกับวิธีการทำงานแบบใหม่และโลกยุคใหม่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit