ไบโอเทค สวทช. พัฒนาวัคซีนรวมสำหรับสุกรในเข็มเดียว ป้องกันไวรัสนิปาห์ และ ไวรัสพีอาร์อาร์เอส

11 May 2021

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) พัฒนาวัคซีนและศึกษาภูมิคุ้มกันของสุกรต่อวัคซีนต้นแบบที่สามารถใช้ป้องกันทั้งไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) และไวรัสพีอาร์อาร์เอส (PRRS virus) ได้ในเข็มเดียว เพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาดร้ายแรงในปศุสัตว์ที่สามารถแพร่สู่คนได้ พร้อมทั้งเสริมสร้างระบบป้องกันและควบคุมโรคระบาดต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไบโอเทค สวทช. พัฒนาวัคซีนรวมสำหรับสุกรในเข็มเดียว ป้องกันไวรัสนิปาห์ และ ไวรัสพีอาร์อาร์เอส

อุตสาหกรรมปศุสัตว์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah) ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ (emerging disease) ซึ่งสามารถแพร่ระบาดติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยมีแหล่งรังโรคคือ ค้างคาวผลไม้ แต่สัตว์ที่สามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ คือ สุกร สุนัข แพะ แมว ม้า และแกะ ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะโรค และสามารถติดต่อมาสู่คนได้จากการสัมผัส หรือรับประทานวัตถุที่ปนเปื้อน ปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลาย ของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะสุกรซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ง่ายที่สุด เป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงในสุกร และการติดเชื้อไข้สมองอักเสบในมนุษย์ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยมีรายงานการแพร่ระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ. 2541-2542 โดยพบผู้ป่วยเกือบ 300 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 100 ราย นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของมาเลเซียเป็นอย่างมาก โดยทางการมาเลเซียมีการสั่งทำลายสุกรกว่า 1.2 ล้านตัว หรือประมาณร้อยละ 50 ของสุกรทั่วประเทศ

ดร. นันท์ชญา วรรณเสน นักวิจัยทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันทั้งสำหรับปศุสัตว์และมนุษย์  ในขณะที่วัคซีน PRRS (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) มีใช้อย่างแพร่หลายและมีความปลอดภัยในการนำไปใช้ในสุกร ทางทีมวิจัยจึงมีความสนใจที่จะนำวัคซีน PRRS ไปพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำส่งโปรตีนแอนติเจนของไวรัสนิปาห์ เพื่อใช้เป็นวัคซีนรวมที่สามารถป้องกันได้ทั้งไวรัสนิปาห์ และไวรัส PRRS ในเข็มเดียว (bivalent vaccine)

ดร. นันท์ชญา ให้ข้อมูลต่อว่า โครงการวิจัยนี้คณะวิจัยไบโอเทค ได้ทำงานร่วมกับ Prof. Simon Graham และ Dr. Rebecca McLean จาก The Pirbright Institute (TPI) สหราชอาณาจักร ในการศึกษาภูมิคุ้มกันของสุกรต่อวัคซีนต้นแบบที่พัฒนาขึ้นนี้ โดยทีมวิจัยไบโอเทคได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการตัดต่อพันธุกรรมไวรัส PRRS และได้วางแผนร่วมกับทีมวิจัยจาก TPI ในการทดสอบคุณสมบัติของไวรัส PRRS เพื่อใช้เป็นเวกเตอร์ไวรัส (viral vector) ที่สามารถนำส่งโปรตีนของไวรัสนิปาห์ เพื่อใช้เป็นวัคซีนรวมสำหรับป้องกันโรคทั้ง 2 โรคได้

โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก The Transnational Access Activities (TNA) : Veterinary Biocontained Facility Network (VetBioNet) เป็นมูลค่า 61,350 ปอนด์ (2,504,000 บาท) โดยสนับสนุนการทดสอบวัคซีนในสุกรในห้องปฏิบัติการวิจัย high containment laboratory ซึ่งใช้สำหรับการวิจัยและทดลองเกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคและสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ Animal and Plant Health Agency, UK และการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

HTML::image(