อ่วม! นักวิจัยเผยต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับบุหรี่ล่าสุด พบรัฐต้องควักจ่าย 6 ล้านบาท กรณีชายไทยสูบบุหรี่ตลอดชีวิตและป่วยด้วย 4 โรคร้าย ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 5.8 ล้านบาท ระบุช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คนไทยอยากเลิกผลิตภัณฑ์ยาสูบถึงร้อยละ 80 แต่เข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ได้แค่ร้อยละ 29
รศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลประเมินล่าสุดถึงต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐต้องจ่ายเพิ่มจากการสูบบุหรี่ของประชากร 1 คน โดยใช้ฐานข้อมูล ปี 2562 วิเคราะห์พบว่า ต้นทุนตลอดชีวิตจากการสูบบุหรี่ของคนไทยที่รัฐต้องจ่ายต่อผู้สูบ 1 คน โดยครอบคลุมโรคสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ 4 โรค ได้แก่ โรคมะเร็งปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด รัฐต้องจ่ายเพิ่มมากถึง 4-5.5 ล้านบาท ต่อผู้สูบ 1 คน โดยจ่ายเพิ่มให้เพศหญิงสูงถึง 5,451,063 บาท มากกว่าเพศชายที่รัฐต้องจ่ายเพิ่มอยู่ที่ 4,981,048 ล้านบาท
รศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ กล่าวต่ออีกว่า จากการวิเคราะห์ยังพบด้วยว่าสำหรับประชากรเพศหญิงต้นทุน ตลอดชีวิตในผู้ไม่สูบบุหรี่คิดเป็น 371,042 บาท แต่หากเพศหญิงสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 15 ปี และสูบต่อไปตลอด ชีวิต จะทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ราว 5,822,105 บาท ต่อคน และยังมีอายุสั้นลงกว่าผู้ไม่สูบถึง 25 ปี และหากเป็นหนึ่งในผู้ที่สูบบุหรี่ที่มีโอกาสเลิกบุหรี่ได้สำเร็จร้อยละ 27 และอายุเฉลี่ยที่เลิกได้ตามที่สำนักสถิติ แห่งชาติระบุคือ 41 ปี จะทำให้ต้นทุนที่รัฐต้องจ่ายให้เพศหญิง 1 คนสูบบุหรี่ อยู่ที่ 3,320,399 บาท
สำหรับเพศชายพบว่า ต้นทุนตลอดชีวิตในผู้ไม่สูบบุหรี่คิดเป็น 1,052,904 บาท แต่หากเพศชายสูบ บุหรี่ตั้งแต่อายุ 15 ปี และสูบต่อไปตลอดชีวิต จะทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ 6,033,952 บาท ต่อคน และจะมีอายุสั้นลงกว่าผู้ไม่สูบถึง 31 ปี และหากผู้สูบเป็นหนึ่งในผู้ที่มีโอกาศเลิกบุหรี่ได้สำเร็จร้อยละ 27 และอายุเฉลี่ยที่เลิกได้ตามที่สำนักสถิติแห่งชาติระบุคือ 41 ปี ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการที่เพศชาย 1 คนสูบบุหรี่มีมูลค่า 5,438,790 บาท
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ในช่วงปี 2563 ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เคยพยายามเลิกสูบมากถึงร้อยละ 80 แต่มีเพียงร้อยละ 29.3 เท่านั้น ที่เคยได้รับความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพื่อเลิกสูบโดยบุคลากรทางสุขภาพ หรือเข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่
"ปัจจุบันมีการประเมินต้นทุนทางทเศรษฐศาสตร์ของการสูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่างก็ระบุ สอดคล้องว่าบุหรี่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมหาศาล โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ร้อยละ 5.7 ของโลก มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังพบว่าบุหรี่ทำให้เกิดการสูญเสียผลิตภาพเป็นมูลค่าถึง ร้อยละ 1.8 ของจีดีพี ดังนั้นการวิเคราะห์ประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ จะช่วยสร้างความตระหนักต่อ ภาระด้านเศรษฐศาสตร์ของโรค และปัญหาสุขภาพ รวมถึงช่วยในการวางแผน และจัดลำดับความสำคัญของ นโยบายและมาตรการสุขภาพ ในขณะที่การศึกษาต้นทุนของความเจ็บป่วย จะมีประโยชน์ในการประมาณการ ต้นทุนที่ประหยัดได้ จากการนำนโยบายหรือมาตรการไปปฏิบัติ" รศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ อธิบายเพิ่ม
ทั้งนี้ผลวิเคราะห์ดังกล่าวมาจากงานวิจัย "การประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากบุหรี่ไฟฟ้า Economic cost of e-cigarette ปี 2563" ที่ใช้แบบจำลองมาร์คอฟในการประเมิน โดย รศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ และทีม ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุม ยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit