นักวิจัยไทยเผยผลวิเคราะห์ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ ที่รัฐบาลต้องจ่ายเพิ่มให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กรณีป่วยด้วยภาวะอิวาลีต่อ 1 คน สูงถึง 2.7 ล้านบาท ในกรณีผู้ชายที่เริ่มสูบตั้งแต่อายุ 15 ปี ส่วนผู้หญิงเสียน้อยกว่าราว 1 แสนบาท ขณะที่ค่ารักษาอิวาลีในโรงพยาบาลต่อคนต่อวันสูงถึง 35,000 บาท ยังพบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มการสูบบุหรี่มวลถึง 3.5 เท่า
รศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ หัวหน้าโครงการวิจัย "การประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากบุหรี่ไฟฟ้า Economic cost of e-cigarette ปี 2563" สนับสนุนโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลการศึกษาด้วยการจำลองฐาน ข้อมูลถึง ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐบาลไทยต้องเสียเพิ่มให้กับประชาชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อผู้สูบ 1 คน บนสมมติฐาว่าผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสเกิด electronic-cigarette or, vaping product use-associated lung injury (EVALI) หรือ อิวาลี และการสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเพิ่มโอกาสให้หันไปสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้น 3.5 เท่า ซึ่งการสูบบุหรี่มวนจะเพิ่มความเสี่ยงโรค 4 ชนิด ได้แก่ โรคมะเร็งปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น พบว่า เด็กผู้ชาย 1 คน ที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อายุ 15 ปี ที่เกิดอาการเจ็บป่วย เดินทางเข้ารักษาในโรงพยาบาล เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเสียชีวิต จากโรคต่างๆ ก่อนวัยอันควร ส่งผลให้ประเทศไทยต้องสูญเสียแรงงานวัยทำงาน เฉลี่ยแล้วมีต้นทุน เพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 2,637,414 บาท โดยต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐต้องจ่ายให้ประชากร เพศชายที่ไม่สูบบุหรี่ 1 คนอยู่ที่ 1,090,896 บาท แต่หากสูบุหรี่ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 3,728,309 บาท
ส่วนผู้หญิงที่เริ่มสูบตั้งแต่อายุ 15 ปีเช่นกัน จะมีต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐต้องเสียเพิ่ม ต่อคนราว 103,522 บาท โดยต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐต้องจ่ายให้ประชากรเพศหญิงที่ไม่สูบบุหรี่ 1 คน อยู่ที่ 412,409 บาท แต่หากสูบุหรี่ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 515,931 บาท อย่างไรก็ตามต้นทุนที่เกิดขึ้นในประชากรหญิง มีค่าต่ำกว่าประชากรเพศชาย เนื่องจากสมมติฐานการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มโอกาสของการเป็นผู้สูบบุหรี่มวน ในอนาคต ประชากรเพศหญิงมีความน่าจะเป็นในการเป็นผู้สูบบุหรี่ต่ำกว่าเพศชาย ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการ รักษาพยาบาลโรคอิวาลีในโรงพยาบาลของรัฐเฉลี่ยต่อวันต่อคนอยู่ที่ 35,104 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ ที่เกิดจากบุหรี่มวน เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรังอยู่ที่ 9,488.22 บาท หลอดเลือดสมอง 15,173.89 บาท มะเร็งปอด 18,573.22 บาท และ หัวใจและหลอดเลือด 37,926.91 บาท
รศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ กล่าวต่ออีกว่า ผลการประเมินต้นทุนในครั้งนี้ยังต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจาก ไม่ได้รวมต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนของ informal care และหากเป็นการจำลองข้อมูลสูบบุหรี่ไฟฟ้าตลอดชีวิต คาดว่ามูลค่าต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐต้องจ่ายต่อ 1 คน จะมากกว่า 2.63 ล้านบาท เพียงแต่บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ยังไม่มีข้อมูลระยะยาวมาเปรียบเทียบ หากในอนาคตมีข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดโรคต่างๆ เท่ากับบุหรี่มวน ก็จะสามารถนำข้อมูลนั้นมาเทียบเคียง เพื่อประเมินได้
"งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยกระตุ้นและย้ำเตือนว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียแค่เฉพาะ ตัวเองอีกต่อไป แต่เป็นความเสียหายของประเทศชาติด้วย และการที่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดความสูญเสีย ทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมหาศาล มาตรการและนโยบายที่ป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ จึงมีความสำคัญ และช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างมาก" หัวหน้าโครงการวิจัยการประเมินต้นทุน ทางเศรษฐศาสตร์จากบุหรี่ไฟฟ้า ฯ ระบุ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit