สืบเนื่องจากการศึกษาพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพร่วมกันระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA สรุปว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพกว่า 1.737 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 กว่า 2 แสนไร่ โดยทั้ง 2 หน่วยงาน ได้วางแผนขยายผลการดำเนินงานร่วมกันในการสำรวจติดตามสถานภาพและสถานการณ์สำคัญของทรัพยากรทางทะเลอื่น ๆ ต่อไป ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น แต่งานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และเตรียมการขยายผลกับทรัพยากรอื่น ตั้งเป้าหากเป็นไปได้จะต้องรายงานแบบ Real time
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นงานที่ต้องอาศัยเทคนิค ความรู้และความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการและการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งโดยส่วนตัว ตนเป็นคนที่สนใจงานด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว และอย่างที่เห็นได้ชัดเจน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมมือกับ GISTDA ในการติดตามสถานการณ์พื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพและป่าชายหาดทั่วประเทศ ซึ่งผลการศึกษาสรุปว่า เรามีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนไร่ ถ้าเราให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจคงใช้เวลานานอีกทั้งความถูกต้องแม่นยำอาจจะไม่เทียบเท่า อย่างไรก็ตาม ตนจะได้หารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางการขยายผลการดำเนินงานกับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ด้วย หากสามารถรายงานสถานการณ์ได้แบบ Real Time ได้ จะช่วยให้การบริหารจัดการและการตัดสินใจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสิ่งที่ตนอยากฝากไว้ก็คือ "เทคโนโลยีทำให้เราทำงานง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น แต่การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ ยังเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ต่อให้เทคโนโลยีจะดีหรือทันสมัยมากมายขนาดไหน ถ้าเราทุกคนไม่ร่วมแรงร่วมใจกันลงมือทำ ทรัพยากรก็คงไม่สามารถคงอยู่ได้ยั่งยืนอย่างแน่นอน"
ภายหลังการเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลทรัพยากรป่าชายเลน โดยการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลน ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า นับจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงทางวิชาการและวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ GISTDA ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมมือกันศึกษา สำรวจทรัพยากรป่าชายเลนคงสภาพของประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพกว่า 1,737,020 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 2 แสนไร่ ซึ่งตนเชื่อว่าส่วนสำคัญเกิดจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันปลูกและดูแลผืนป่าชายเลนให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดความสำเร็จของการศึกษา กรมและ GISTDA ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานส่วนกลางและในพื้นที่กว่า 100 คน โดยเป็นการประชุมแบบผสมผสานทั้งแบบในห้องประชุมและ Video Conference สำหรับอนาคตกรมได้กำหนดแผนความร่วมมือต่อเนื่อง เพื่อขยายผลไปยังทรัพยากรทางทะเลอื่น ๆ เช่น การติดตามสถานภาพปะการังและหญ้าทะเล การสำรวจและติดตามสัตว์ทะเลหายาก และสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ ต่อไป
ด้านนายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวเสริมว่า งานด้านการติดตามและสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทาง GISTDA ได้ให้ความสำคัญและรวบรวมฐานข้อมูลและภาพถ่ายทางดาวเทียมไว้จำนวนมาก ทำให้มีความพร้อมในการศึกษาและติดตามสถานการณ์ รวมถึง การเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งการทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้งานฐานข้อมูลให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการดำเนินงานร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้ว ทาง GISTDA ได้จัดทำ Marine and Coastal GI Application และสถานีเรดาร์ชายฝั่ง เพื่อติดตามสถานการณ์กระแสผิวน้ำหน้าทะเล จำนวน 7 พื้นที่ และตรวจติดตามเหตุการณ์สำคัญทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้วางแผนเตรียมขยายผลการดำเนินงาน เพื่อติดตามสถานการณ์ทรัพยากรใต้ทะเล และสถานการณ์สำคัญอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ต่อไป นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit