ต้องยอมรับว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เราทุกคนล้วนเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ไปพร้อมกันทั่วโลก และล่าสุดกับการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทต่อสู้กับสถานการณ์ดังกล่าวมากที่สุดก็คือ "โรงพยาบาล" ที่ต้องรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด ทั้งในเชิงรับและเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็น การรับมือกับผู้ป่วยทั่วไป การรับมือกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตลอดจนทำหน้าที่ตรวจคัดกรอง และเฝ้าระวังผู้ป่วยติดเชื้อ เรียกได้ว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นคราวจำเป็นที่โรงพยาบาลต้องเร่งปรับตัว และทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อพาสังคมก้าวผ่านวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปได้
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศก้าวผ่านจุดวิกฤตมาได้ นั่นก็คือ ความพร้อมของเครื่องมือแพทย์ วัคซีน ตลอดจนเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพราะแม้เราจะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เก่งรอบด้าน แต่การขาดแคลนเครื่องมือต่าง ๆ ที่จำเป็นในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็กลายเป็นอุปสรรคต่อการรักษา และการตรวจคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ดังจะเห็นในช่วงแรก ๆ ที่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศรวมตัวกันขอรับบริจาคหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ชุด PPE เพราะความจำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน รวมถึงความจำเป็นต้องเร่งติดตั้งห้องตรวจเชื้อแบบความดันบวก และความดันลบ เนื่องจากเราไม่สามารถผลิตเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เองในปริมาณที่เพียงพอ ต้องอาศัยการนำเข้า และเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างชาติ บทความนี้จึงจะพาไปสำรวจโอกาสของประเทศไทย หากมีโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์เป็นของตัวเอง
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สจล. ได้ร่วมช่วยรับมือวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยการพัฒนานวัตกรรม ภายใต้โครงการ "KMITL 60 FIGHT COVID-19" ได้แก่ ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) แบบความดันบวก (Positive Pressure) และต้นแบบเครื่องช่วยหายใจ (KMITL Mini Emergency Ventilator) ส่งมอบให้กับหน่วยงานรัฐและโรงพยาบาลทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อต่อยอดการแก้ปัญหาการขาดแคลนนวัตกรรมทางการแพทย์ประสิทธิภาพสูง เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมของคนไทย รวมถึงสนับสนุนรัฐบาลลดการนำเข้าเทคโนโลยีมูลค่าสูง สจล. ได้เดินหน้าโครงการจัดตั้ง "โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร" (KMC Hospital : King Mongkut Chaokhun Thahan Hospital) โรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรครั้งแรกของประเทศไทย และอาเซียน
สำหรับจุดเด่นของโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ประกอบด้วย 5 มิติ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
โรงพยาบาลแห่งนี้จะให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส
นอกจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โรงพยาบาลฯ ยังมุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านเครื่องมือแพทย์เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินจากโรคระบาด
อีกทั้ง โรงพยาบาลฯ จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย การวิจัยนวัตกรรม รวมไปถึงการออกแบบพร้อมผลิตอุปกรณ์การแพทย์ด้วยตนเอง โดยนวัตกรรมและเครื่องมือทางการแพทย์ต่าง ๆ จะเกิดจากการผสานองค์ความรู้ของหลากหลายสาขาวิชา
ยิ่งไปกว่านั้น โรงพยาบาลฯ ตั้งใจที่จะช่วยสร้างความพร้อมในการรับมือกับทุกวิกฤตทางการแพทย์ในอนาคตของประเทศไทย
ท้ายที่สุด โรงพยาบาลฯ มุ่งผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ภายในประเทศ เพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยสามารถได้รับการรักษาที่ถูกขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ในแง่ของการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ "โรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์" ไม่เพียงเป็นที่พึ่งพาด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ให้แก่คนไทย แต่ยังสามารถสร้างโอกาสในการผลิตและส่งออกอุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง ไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียน นำมาซึ่งรายได้มูลค่ามหาศาลให้แก่ประเทศในเบื้องต้นโรงพยาบาลฯ จะมีศักยภาพรองรับผู้ป่วยจำนวน 60 เตียง ในพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ ตะวันออก และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งแผนการพัฒนาโรงพยาบาลแห่งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเน้นย้ำจุดยืนของ สจล. ในฐานะสถาบันที่คอยผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม พร้อมสร้างสรรค์ผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่ไม่เพียงตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของประเทศมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด 60 ปี
โดยระยะแรกภายหลังจัดสร้างโรงพยาบาลดังกล่าวแล้วเสร็จ ก็จะเตรียมพัฒนา "นวัตกรรมทางการแพทย์รับยุคดิจิทัล" (Digital Health Care) ที่สามารถหนุนผู้ป่วยใช้งานจากที่บ้าน ได้รับการรักษาแพทย์ทางไกล (Telehealth) ในยุคดิจิทัล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมประสิทธิภาพสูงจากที่บ้านได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่เสี่ยงหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำและใช้ภายนอกร่างกาย ลดการสูญเสียเวลา/ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยและครอบครัว หนึ่งในนวัตกรรมทางการแพทย์ภายใต้แนวคิด Telehealth ที่เตรียมพัฒนาในอนาคต คือ เอไอวินิจฉัยโรคปอด โปรแกรมวินิจฉัยโรคปอดจากภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ (X-Ray) ได้แก่ ภาวะปอดรั่ว และภาวะปอดบวม พร้อมแสดงความเสี่ยงของการเกิดโรคในรูปแบบเปอร์เซ็นต์
"โครงการจัดตั้ง โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากคนไทยทุกคน ถึงจะประสบความสำเร็จได้ สจล. จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมกัน "ให้เพื่อสร้าง" โดยบริจาคผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง "โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร" ผู้ใดที่สนใจสามารถบริจาคได้ที่บัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯ ธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 693-0-32393-4" ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMC Hospital) ได้ที่ สำนักงานโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร โทร. 092-454-8160, 092-548-2640, 02-329-8229 (สายตรง) 02-329-8000 ต่อ 3146 ไลน์ไอดี @KMITLHospital เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/KMCHospitalbyKMITL และเว็บไซต์ www.ให้เพื่อสร้าง.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit