ปัญหาฝุ่นใต้พรมยังวิกฤต ! "สุชัชวีร์" เปิดโปรเจคร่วมแก้ปัญหาฝุ่นประเทศไทย เร่งแก้ปัญหา 3 ด้าน "สุขภาพ ผังเมือง คมนาคม"

29 Jan 2021

  • พร้อมกัน 11 กุมภานี้ ! สภาวิศวกร ชวนวิศวกรไทย ร่วมประชุมใหญ่สามัญสภาวิศวกร ประจำปี 2564 เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม
ปัญหาฝุ่นใต้พรมยังวิกฤต ! "สุชัชวีร์" เปิดโปรเจคร่วมแก้ปัญหาฝุ่นประเทศไทย เร่งแก้ปัญหา 3 ด้าน "สุขภาพ ผังเมือง คมนาคม"

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดโปรเจคร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5ประเทศไทย ต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนารูปแบบการตรวจวัดและบริหารจัดการระดับคุณภาพอากาศ สร้างป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่น ขยายจุดติดตั้งป้ายรถเมล์อัจฉริยะ 9 พื้นที่เสี่ยงรอบ กทม. ฯลฯ พร้อมย้ำการแก้ปัญหาเร่งด่วน 3 ด้านเพื่อคนไทย ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านผังเมือง ด้านคมนาคม

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ในปัจจุบัน ฝุ่นพิษ PM2.5 นับเป็นอีกหนึ่งวิกฤตสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจคนไทยอย่างต่อเนื่อง ที่ภาครัฐและทุกภาคส่วนต่างตระหนักถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม สภาวิศวกร ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพด้านวิศวกรรม และพร้อมเคียงข้างประชาชนและสังคมเพื่อหาทางออกด้านวิศวกรรม จึงร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินการติดตามปัญหาวิกฤตฝุ่นในประเทศไทยและกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เปิดโปรเจคร่วมแก้ปัญหาฝุ่นประเทศไทย ดังนี้

  • พัฒนารูปแบบการตรวจวัดและบริหารจัดการระดับคุณภาพอากาศ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ บริเวณพื้นที่โล่งและพื้นที่สาธารณะใน กทม. โดยสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล.
  • ทำแผนที่ Area Map แบบเรียลไทม์ ออกแบบป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่น โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์ SCiRA สจล. และ LG ภายใต้ชื่อ "ศูนย์รวบรวมข้อมูลติดตามมลพิษทางอากาศ"
  • พัฒนาโครงข่ายเฝ้าระวังและระบบติดตามคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ในพื้นที่ สจล. และ กทม.
  • สร้างป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่น พร้อมติดตั้ง KMITL AQI Station เพื่อลดความเข้มข้นฝุ่นพิษบริเวณป้ายรถเมล์ และติดตั้งโครงการสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ สจล. เพื่อวัดคุณภาพแบบเรียลไทม์
  • ขยายจุดติดตั้งป้ายรถเมล์อัจฉริยะ 9 พื้นที่เสี่ยงรอบ กทม. ได้แก่ เขตบางซื่อ บางเขน บางกะปิ มีนบุรี ดินแดง พระโขนง ภาษีเจริญ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และบางคอแหลม

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ปัญหาฝุ่นพิษในประเทศไทยได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนและตรงจุด สภาวิศวกร เห็นควรว่าประเทศต้องเร่งแก้ไขเร่งด่วนใน 3 ด้านสำคัญ (1) ด้านสุขภาพ ต้องสร้างบิ๊กเดต้าเข้าถึงข้อมูลฝุ่นเรียลไทม์ เพื่อให้คนไทยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและเท่าทันข่าวสาร สนับสนุนงานวิจัยแก้ปัญหาฝุ่น เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ แก้ปัญหาฝุ่นหนาแน่น 9 พื้นที่ ได้แก่ บางซื่อ บางเขน บางกะปิ มีนบุรี ดินแดง พระโขนง ภาษีเจริญ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และบางคอแหลม (2)ด้านผังเมือง เสนอแนะให้ปรับการวางผังเมืองใหม่ ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 9-10 ตารางเมตรต่อคน และ (3) ด้านคมนาคม เสนอแนะให้มีการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย เก็บภาษีรถยนต์ปล่อยควันดำ เพื่อนำเงินภาษีที่ได้มาเยียวยารักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ

"ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแต่หน่วยงานระดับประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการสำคัญ หรือกระทั่งสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนางานวิจัยหรือเทคโนโลยีในแก้ไขปัญหาดังกล่าวในภาพใหญ่แล้ว ประชาชน ก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้ อาทิ เลือกสรรนวัตกรรมป้องกันฝุ่น หรือติดตามการรายงานผลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหมั่นควรดูแลสุขภาพของตน และบุคคลรอบข้างที่ภูมิต้านทานต่ำอยู่เสมอ โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบสูง" ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

"สภาวิศวกร" นอกเหนือจากบทบาทของการเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพแล้ว ยังมีนโยบายในการพัฒนาศักยภาพวิศวกรไทย ผ่านการจัดทดสอบความรู้ การอบรมมาตรฐานวิชาชีพในสาขาต่าง ๆ ตลอดจนประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเพื่อแก้ปัญหาระดับประเทศ ผ่านการวางกรอบการแก้ไขปัญหา เสนอมาตรการช่วยเหลือแก่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำด้านวิศวกรรม ผ่านสายด่วน 1303 อย่างต่อเนื่องแล้ว สภาวิศวกร ยังมีนโยบายยกระดับองค์ความรู้วิศวกรรมของประเทศให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงในยุคดิสรัปชัน (Disruption) ผ่านการจัดประชุมใหญ่สามัญสภาวิศวกร ประจำปี 2564 ภายใต้พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 โดยสมาชิกสภาวิศวกรที่สนใจ สามารถเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 9.00 - 15.00 น. ในระบบออนไลน์ Cisco Webex ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมดังกล่าว สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ สภาวิศวกร ตั้งแต่วันนี้ - 8 กุมภาพันธ์ 2564 และสามารถดูรายละเอียดวิธีการลงทะเบียนได้ที่ www.coe.or.th ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2564 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนสภาวิศวกร 1303 และติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกร
ได้อีก 4 ช่องทางที่ ไลน์ไอดี @coethai เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/coethailand เว็บไซต์ www.coe.or.th และยูทูบแชลแนล "COE Thailand"

เกี่ยวกับผู้บริหาร
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านวิศวกรรมโยธา สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม จาก Massachusetts Instituteof Technology (MIT) USA และเป็นหนึ่งในทีมผู้ออกแบบและวางระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ามหานคร ในอดีตดำรงตำแหน่งคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพในหลากหลายบทบาท กรรมการบริษัทเดินรถไฟฟ้า (Airport Rail Link) เป็นต้น

ในด้านวิชาการเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สจล. ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา อุปนายกสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกสภาวิศวกร, ประธานสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สออ.), ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), นายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย, ประธานคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)