ด้วยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อน้ำสลัดซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันเมล็ดชา ภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นส่วนประกอบว่า "Chaipat Camellia Oil Dressing"
ในการนี้วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา พร้อมด้วย พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานที่ประชุมคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย.จำกัด (มหาชน) และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นประธานงานแถลงข่าวเปิดตัว น้ำสลัดชื่อพระราชทาน "Chaipat Camellia Oil Dressing" จากน้ำมันเมล็ดชา ภัทรพัฒน์…สู่ครัวการบินไทย ณ ภัตตาคาร Royal Orchid Dining Experience ชั้น 2 อาคาร 2 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใช้น้ำมันเมล็ดชา ภัทรพัฒน์ ในการประกอบอาหาร โดยนำน้ำมันเมล็ดชาไปปรุงอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ ปัจจุบัน บริษัท การบินไทย ฯ ได้เปิดร้าน อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบินก็ฟินได้ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ มูลนิธิชัยพัฒนา และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์น้ำมันเมล็ดชา ภัทรพัฒน์ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อน้ำสลัดซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันเมล็ดชา ภัทรพัฒน์ เป็นส่วนประกอบว่า "Chaipat Camellia Oil Dressing" โดยน้ำสลัดชื่อพระราชทานนี้สำหรับจำหน่าย ณ ร้านอร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้ ทุกสาขา
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของบริษัท การบินไทยฯ ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อน้ำสลัด ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันเมล็ดชา ภัทรพัฒน์ เป็นส่วนประกอบว่า "Chaipat Camellia Oil Dressing" โดยฝ่ายครัวการบินร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา นำน้ำมันเมล็ดชาของมูลนิธิฯมาปรุงเป็นน้ำสลัด โดยได้พัฒนามาจากสูตรน้ำสลัดคลาสสิคของชาวฝรั่งเศส โดยเชฟ ปิแอร์ อองเดร เฮาสส์ Executive Chef ของฝ่ายครัวการบินนำเครื่องเทศต่างๆ มาผสมกับน้ำมันเมล็ดชาภัทรพัฒน์ พร้อมปรุงรสให้กลมกล่อมเหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพและชื่นชอบสลัดน้ำใส
โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้นำน้ำสลัดดังกล่าวให้บริการบนเครื่องบินของการบินไทยและสายการบินลูกค้า ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ต่อมาฝ่ายครัวการบินได้มีการขยายตลาดในส่วนภาคพื้น และในปัจจุบันได้วางจำหน่าย ณ ภัตตาคาร Royal orchid Dining Experience ของการบินไทยที่สำนักงานใหญ่ และสีลม อีกทั้งมีแผนจะขยายตลาดไปยังซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆรวมถึงร้านภัทรพัฒน์และร้านในเครือมูลนิธิชัยพัฒนาต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีโอกาสร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนามาโดยตลอด อาทิ โครงการ 'การบินไทยปลูกชีวิตให้แผ่นดิน' โดยนำพนักงานไปร่วมกิจกรรมปลูกป่าตั้งแต่พื้นที่ยังเป็นสภาพป่าเสื่อมโทรมแห้งแล้ง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี 2538 จนปัจจุบันพื้นที่บริเวณดังกล่าวกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เป็นต้น
งานเปิดตัว น้ำสลัดชื่อพระราชทาน "Chaipat Camellia Oil Dressing" จากน้ำมันเมล็ดชา ภัทรพัฒน์…สู่ครัวการบินไทย จัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 26 มีนาคม 2564 เวลา 07.30 - 14.00 น. ณ ภัตตาคาร Royal Orchid Dining Experience ชั้น 2 อาคาร 2 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โดยตลอดระยะเวลาทั้ง 3 วัน ผู้มารับประทานอาหารที่ร้าน นอกจากจะสามารถเลือกซื้อน้ำสลัด "Chaipat Camellia Oil Dressing" แล้ว ยังสามารถชมนิทรรศการการเดินทางของ "น้ำมันเมล็ดชา" จากประเทศจีน สู่เทือกเขาสูงในประเทศไทย จนเกิดน้ำมันเมล็ดชาที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก" หนึ่งในพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ "สร้างป่า สร้างอาชีพ ก่อเกิดน้ำมัน เพื่อสุขภาพ" พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย พร้อมทั้งเลือกซื้อ "น้ำมันเมล็ดชา ภัทรพัฒน์" และ สินค้า ภัทรพัฒน์ "ผลิตผลจากการพัฒนาโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา" ได้ภายในงานฯ
เกร็ดความรู้น้ำมันเมล็ดชา ภัทรพัฒน์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริในปี พ.ศ.2547 ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมันสายพันธุ์ Camellia oleifera จากสาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน เพื่อเป็นโรงงานผลิตน้ำมันจากเมล็ดชาและพืชน้ำมัน ซึ่งโรงงานนี้จะผลิตน้ำมันคุณภาพสูงสำหรับการบริโภคและทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง เป็นต้น
การศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมัน ได้เริ่มดำเนินการในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งถือเป็นการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมและเป็นการทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลาย ขณะเดียวกันสามารถสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณประโยชน์ของการดูแลรักษาป่าสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเข้าใจและพึ่งพิงกัน เป็นไปตามพระราชดำริ "คนอยู่ร่วมกับป่า" ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันจะนำไปสู่วิถีแห่งความสุข ความสมดุล และความยั่งยืนในที่สุด
ในส่วนของน้ำมันเมล็ดชานั้นเป็นที่รู้จักในสาธารณรัฐประชาชนจีนมานานกว่า 1,000 ปี มีประโยชน์มากมายจนได้ชื่อว่าเป็น "น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก" เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันที่ดีต่อร่างกาย ไม่ด้อยไปกว่าน้ำมันมะกอก และไม่มีกรดไขมันทรานส์ ทั้งยังช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้น้ำมันเมล็ดชายังมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันและโรคหัวใจ
น้ำมันเมล็ดชาประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยยืดอายุของน้ำมันให้นานขึ้น อีกทั้งน้ำมันเมล็ดชามีจุดเดือดสูง จึงทำให้สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทอด การผัด การหมัก หรือใช้เป็นส่วนผสมของน้ำสลัด น้ำมันเมล็ดชาเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพของคนทุกเพศทุกวัย ปัจจุบันน้ำมันเมล็ดชา ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากหลายสถาบัน อาทิ องค์การอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร และสถาบันอาหาร นอกจากนี้มูลนิธิโรคหัวใจ ยังได้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ "อาหารรักษ์หัวใจ" ในสินค้าน้ำมันเมล็ดชาภายใต้ตราสินค้าภัทรพัฒน์ด้วย