คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. และ สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (TIChE) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Yokohama National University, Tokyo University of Agriculture and Technology และ The Japan Management Association ร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ เพื่อจัดตั้งคอนซอร์เทียมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่น (Thailand-Japan Smart Industrial Safety Consortium) ในงานสัมมนาออนไลน์ Thailand-Japan Smart Industrial Safety Forum 2021
พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ เพื่อจัดตั้งคอนซอร์เทียมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผสานความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล ในด้านระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร การค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยี การกำหนดข้อบังคับและมาตรฐานด้านความปลอดภัย รวมทั้งการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอัจฉริยะของประเทศญี่ปุ่น มาสร้างให้เกิดความปลอดภัย และ เพิ่มประสิทธิภาพในโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทย รวมทั้งของภูมิภาคอาเซียน
ผู้แทนของภาคีเครือข่ายทั้ง 6 ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไทยและญี่ปุ่นจะสามารถเสริมสร้างความร่วมมือในสร้างระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่น ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย พร้อมกันนี้ ดร. สุรพันธ์ เมฆนาวิน นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กล่าวเสริมว่า "ส.ส.ท.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นหนึ่งในองค์กร ที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านระบบความปลอดภัยอัจฉริยะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ ส.ส.ท. ที่มีฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ส.ส.ท.จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริม สนับสนุน และร่วมทำงานกับคอนซอร์เทียมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่น ได้อย่างเต็มความสามารถ
ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้แทนของภาคีฝ่ายประเทศไทย ได้แจ้งแก่องค์กรภาคี และผู้เข้าร่วมทั้งหมดทราบว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความตระหนักในพันธกิจของการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่ในการผลิตวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถไปรับใช้สังคม คณะมีความเชื่อมั่น และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อผลิตทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นนิสิตนักศึกษาในระบบการอุดมศึกษา และผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถเพิ่มพูนองค์ความรู้ผ่าน แนวทาง Re-skill Up-Skill โดยอาศัยคอนซอร์เทียมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่นที่จัดตั้งขึ้นนี้
คุณสุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (TIChE) กล่าวว่า "ทางสมาคมฯมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในจัดตั้งกลุ่มระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่นนี้ เนื่องจากงานทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัยนั้นมีพื้นฐานส่วนหนึ่งมาจากงานวิศวกรรมเคมี ดังนั้นทางสมาคมฯจะอาศัยศักยภาพของสมาคมฯในด้านการเชื่อมโยงภาคการศึกษา กับ ภาคอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันสมาคมได้มีการจัดตั้งCommunity of Practice (CoP) ด้าน Process Safety เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ และ Best Practices เพื่อยกระดับความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม และ การเข้าร่วมกับกลุ่มระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะทำให้เกิดคุณประโยชน์อย่างสูงต่อสมาชิก และ ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตทางเคมี
ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่ทำให้ทุกภาคส่วนได้แสดงศักยภาพ ร่วมมือกันค้นคว้า สร้างมาตรฐาน และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงปลอดภัย โดยไม่หยุดยั้งทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit