สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) เผยผลงานวิจัยพัฒนากล้วยไข่กำแพงเพชรต้นเตี้ย ....ช่วยสู้พายุฤดูร้อน ระบุแปลงกล้วยไข่ระยะที่ยังไม่ตกเครืออายุต้น 6 เดือน ที่ราดสารพาโคลบิวทราโซล สามารถต้านพายุฤดูร้อนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรเจ้าของแปลงชี้ประโยชน์จากงานวิจัย ประสงค์ขยายผลราดสารเพิ่มเติมให้แก่กล้วยไข่ทั้งหมดในแปลงวิจัย ...พร้อมกันนี้ วว. ได้แนะเทคนิคการฟื้นฟูต้นกล้วยไข่ที่ได้รับความเสียหายในแปลงจากพายุฤดูร้อน หวังช่วยเกษตรกรฟื้นฟูให้มีผลผลิตเหมือนเดิม
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ชี้แจงว่า จากสถานการณ์ลมพายุฤดูร้อนบริเวณภาคกลางตอนบน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อแปลงปลูกกล้วยไข่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ของนายช่วงชัย พุ่มใย ซึ่งเป็นแปลงทดลองราดสารควบคุมการเจริญเติบโตสำหรับผลิตกล้วยต้นเตี้ยเพื่อทดสอบการต้านลมพายุภายใต้ "โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตและมูลค่าของผลผลิตกล้วยไข่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตกล้วยไข่จังหวัดกำแพงเพชร" ซึ่ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) นั้น
คณะนักวิจัย วว. ได้ดำเนินการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นในแปลงทดลอง พบว่า ต้นกล้วยไข่ที่ไม่ราดสารในระยะตกเครือเกิดการหักล้มเสียหายมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 1) ส่วนกล้วยไข่ต้นเตี้ยที่ราดสารพาโคลบิวทราโซลปริมาณ 5 10 และ 15 กรัมต่อต้น สามารถต้านลมพายุและเกิดความเสียหายน้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ โดยต้นกล้วยไข่ที่ราดสารลำต้นกล้วยไข่จะเอนแต่ไม่หักซึ่งสามารถยืนต้นเพื่อรอเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่หัก (ภาพที่ 2 และ 3) ทั้งนี้เนื่องจากฤทธิ์ของสารพาโคลบิวทราโซลเริ่มหมดฤทธิ์สังเกตได้จากยอดที่เริ่มยืดตัวขึ้น ร่วมกับน้ำหนักของเครือกล้วยทำให้เกิดการเอนหรือการหักล้มได้บางส่วน
ขณะที่ต้นกล้วยไข่ระยะที่ยังไม่ตกเครืออายุต้น 6 เดือนที่ราดสารพาโคลบิวทราโซล พบว่า สามารถต้านพายุฤดูร้อนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยต้นกล้วยไข่ที่ไม่ราดสารเสียหายมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 4 และ 5) จากงานวิจัยนี้นายช่วงชัย พุ่มใย เจ้าของแปลงกล้วยไข่ ได้เล็งเห็นประโยชน์จากการราดสารควบคุมเจริญเติบโตเพื่อผลิตกล้วยต้นเตี้ยซึ่งจะขยายผลราดสารเพิ่มเติมให้แก่กล้วยไข่ทั้งหมดในแปลงวิจัยนี้ต่อไป
ดร.กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) วว. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า คณะวิจัย วว. ยังได้แนะนำเทคนิคการฟื้นฟูต้นกล้วยไข่ที่ได้รับความเสียหายในแปลงวิจัย ได้แก่ 1) การปรับปรุงหน่อข้างให้สมบูรณ์แข็งแรง 2) ทำการตัดใบกล้วยออกหนึ่งในสามในช่วงฤดูฝนเพื่อลดการต้านลม 3) การราดสารซ้ำอีกครั้งในกล้วยอายุต้น 3 เดือนห่างจากครั้งแรกประมาณ 90 วัน หรือทดลองราดสารในต้นกล้วยไข่ที่มีอายุน้อยลง(ภาพที่ 6) ทั้งนี้เพื่อจะผลิตกล้วยไข่ที่มีลักษณะต้นเตี้ยลงและแข็งแรงเพิ่มขึ้นร่วมกับการปรับปรุงระบบการให้ปุ๋ยมาใช้ในการปรับปรุงฟื้นฟูแปลงกล้วยไข่ที่โดนลมพายุซึ่งคาดว่าจะฟื้นฟูให้มีผลผลิตเหมือนเดิมในระยะเวลา 4-5 เดือน
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) โทร. 0 2577 9300 www.tistr.or.th E-mail : [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit