4 องค์กร ร่วมใจ เพ้นท์ ทางม้าลาย สามมิติ “3D Crosswalk “ ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

17 Sep 2020

จิตอาสา 4 องค์กร PMCU ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนาคาร ออมสิน และ แอปพลิเคชั่นลิลูน่า เพ้นท์ทางม้าลายสามมิติ ในโครงการ 3D Crosswalk ลดอุบัติเหตุบนถนน 7 จุด บนพื้นที่ สยาม - สวนหลวง สามย่าน ตอกย้ำพื้นที่แห่งโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะ ใจกลางกรุงเทพมหานคร นำร่องบนพื้นที่สยามสแควร์ ซอย 2

4 องค์กร ร่วมใจ เพ้นท์ ทางม้าลาย สามมิติ “3D Crosswalk “ ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) ร่วมกับ นายสมเกียรติ อารีจิตพานิช ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 2 นายธีมา หมึกทอง อาจารย์ และ เลขานุการหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายนัฐพงษ์ จารวิจิต กรรมการผู้จัดการ Startup แอปพลิเคชั่นลิลูน่า ร่วมเพนท์ทางม้าลายสามมิติ (3D) ในโครงการ “3D Crosswalk” สยามสแควร์ ซอย 2

โครงการ “3D Crosswalk” นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจุฬาฯ Chula Smart City ด้าน SMART LIVING สนับสนุนด้านความปลอดภัยในการสัญจรไปมาบนท้องถนน โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU), ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธนาคารออมสิน และ แอปพลิเคชั่นลิลูน่า จัดขึ้นเพื่อสร้างสีสันบนท้องถนนด้วยทางม้าลายสามมิติ ที่ออกแบบโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้คอนเซ็ปท์ “The Crosswalk that shorted the gap between Nature and Technology. The path looks like a rope that pull the hup closer to the park.” เพื่อกระตุ้นให้คนขับรถ ใช้รถบนถนนด้วยอย่างปลอดภัย ขับรถด้วยความเอื้อเฟื้อ และเพิ่มความระมัดระวังแก่ผู้ข้ามถนน อีกทางหนึ่ง

โดยทางม้าลาย 3 มิติมีจำนวน 7 จุดประกอบด้วย จุดที่ 1 สยามสแควร์ ซอย 2, จุดที่ 2 อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ (จุฬาฯ ซอย 26), จุดที่ 3 ทางเชื่อมระหว่างคณะนิติศาสตร์ กับสามย่านมิตรทาวน์, จุดที่ 4 I AM Park , จุดที่ 5 Block 28, จุดที่ 6 สวนหลวงสแควร์ เชื่อมกับ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาฯ และจุดที่ 7 ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน โดยโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2564
สำหรับโครงการ Chula Smart City ประกอบด้วย 4 Smart

  • SMART MOBILITYการสัญจรอัจฉริยะ ที่ตั้งใจพัฒนาระบบขนส่งในพื้นที่ให้มีความหลากหลาย สะดวกสบาย สามารถเชื่อมต่อการเดินทางของผู้อยู่อาศัยได้อย่างครบวงจร
  • SMART ENERGY การบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อการบริการจัดการการผลิต การจัดเก็บ และการส่งจ่ายพลังงาน ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยรวมให้ได้มากที่สุด
  • SMART LIVING การรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ เพื่อการตรวจสอบและการรักษาความปลอดภัยทั้งทางด้านกายภาพและระบบออนไลน์ โดยรวมการควบคุมไว้ที่ศูนย์กลาง เมื่อเกิดเหตุไม่ปกติสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินและข้อมูลของผู้อยู่อาศัยและผู้เข้ามาใช้งานในพื้นที่
  • SMART ENVIRONMENT การจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีในการตรวจสอบสภาพแวดล้อม อาทิเช่น คุณภาพอากาศ อุณหภูมิ เสียง รวมถึงพยากรณ์อากาศเบื้องต้น เพื่อแจ้งเตือนความเสี่ยงต่างๆ หากอยู่ในสภาวะที่อันตรายต่อคนในชุมชนผ่าน Application และเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันท่วงที

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพื้นที่รวม 1,153 ไร่ แบ่งเป็นเขตการศึกษา 52% หรือ 595 ไร่ พื้นที่ราชการยืมใช้ 16% หรือ 173 ไร่ และพื้นที่เขตพาณิชย์ 32% หรือ 385 ไร่ โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) มีเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรแบบมืออาชีพในการบริหารจัดการพื้นที่พาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างพื้นที่ที่เชื่อมโยงโอกาสสำหรับทุกชีวิตให้เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคมตลอดจนเป็นจุดหมายจากทั่วโลก PMCU จึงมีพันธกิจหลักในการมุ่งสร้างคุณค่าร่วมสูงสุดให้แก่สังคมและชุมชนควบคู่ไปกับเป้าหมายเพื่อสนับสนุน ให้เกิดความยั่งยืนด้านการศึกษา