สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. ลงพื้นที่จังหวัดหนองคายเริ่มนำร่องทดลองใช้แอปพลิเคชั่น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินรูปแบบใหม่ใหม่ปี 2564 ด้วยแนวคิดในการนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการประเมินทั้งระบบช่วยให้การประเมินรวดเร็วสถานศึกษาทั่วประเทศได้รับการประเมินอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการลงพื้นที่ ไม่สร้างภาระแก่สถานศึกษา ด้านสถานศึกษาหนุน สมศ. ให้นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการประเมิน และการปรับรูปแบบ ปรับเกณฑ์ และระบบการประเมินลดความซ้ำซ้อน ลดจำนวนวันลงพื้นที่ ลดภาระงานของสถานศึกษา เน้นการประเมินที่สถานศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์ และเป็นการเตรียมความพร้อมเข้ารับการประเมินรูปแบบใหม่ที่จะมาถึง
ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า สมศ. ได้ลงพื้นที่จังหวัดหนองคายเพื่อเป็นการทดลองใช้แอปพลิเคชันสำหรับผู้ประเมินภายนอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการประเมิน และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้หน่วยงานในกำกับ หันมาใช้ระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลในกระบวนการทำงานมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินรูปแบบใหม่ปี 2564 สมศ. จึงได้นำร่องทดลองใช้ แอปพลิเคชัน ที่จะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2563 โดยแอปพลิเคชันดังกล่าว จะช่วยให้การลงพื้นที่เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การบันทึกข้อมูลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดระยะเวลาในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเหลือเพียงแค่ 1 วันสำหรับสถานศึกษาขนาดเล็ก และช่วยลดปัญหาการร้องเรียนในกรณีต่างๆ เช่นผู้ประเมินมาสาย หรือกลับก่อนเวลา อีกทั้งในกรณีที่เกิดการร้องเรียนก็สามารถตรวจสอบประวัติการดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันได้เลย ซึ่งระบบแอปพลิเคชันจะทำให้ สมศ. และหน่วยประเมินรู้สถานะของผู้ประเมินพร้อมกัน
ดร.นันทา กล่าวต่อว่า สำหรับรายละเอียดการทำงานของระบบแอปพลิเคชัน สมศ.จะมีการเปิดให้ผู้ประเมิน ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน หลังจากนั้นผู้ประเมินสามารถล็อคอินเข้าระบบด้วยเลขที่บัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ และจะได้รับรหัส OTP ที่ได้รับผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หลังจากล็อคอินเสร็จเรียบร้อยในระบบจะมีข้อมูลเบื้องต้นของผู้ประเมิน และข้อมูลของสถานศึกษาที่ผู้ประเมินจะต้องลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ว่าจะต้องไปในวันเวลาใดบ้าง ส่วนขั้นตอนในการใช้แอปพลิเคชันเพื่อการบันทึกข้อมูลนั้นสามารถทำได้ทั้งแบบพิมพ์ข้อความ และบันทึกผ่านเสียง จากนั้นระบบจะแปลงเสียงมาเป็นไฟล์ข้อความ และผู้ประเมินสามารถส่งรายละเอียดไปยังอีเมล เพื่อทำการแก้ไขรายงานสรุปได้เลยทันที ส่งผลให้งานประเมินสามารถทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และยังช่วยลดจำนวนวันในการลงพื้นที่ และลดภาระงานของสถานศึกษาอีกด้วย
โดยในขณะนี้ระบบแอปพลิเคชันมีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานแล้ว 90% ซึ่ง สมศ.จะเริ่มให้ผู้ประเมินใช้แอปพลิเคชันในกระบวนการประเมินอย่างเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2563 เนื่องจากเป็นเดือนแรกที่จะเริ่มการประเมินในรูปแบบใหม่ นอกจากการนำแอปพลิเคชันมาใช้ระบบการประเมินแล้ว สมศ.ยังได้มีการพิจารณาปรับเกณฑ์ การประเมินรูปแบบใหม่เพื่อให้การประเมินเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสถานศึกษา สามารถนำผลประเมินไปใช้พัฒนาสถานศึกษาได้จริง
“การลงพื้นที่เพื่อทดลองใช้ระบบแอปพลิเคชันครั้งนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งภายหลังจากลงพื้นที่ทดลองเสร็จเรียบร้อย สมศ.จะนำข้อมูลที่ได้ไปปรับให้ระบบแอปพลิเคชันมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น รองรับการประเมินรูปแบบใหม่ที่จะมาถึง และเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ประเมินใช้แอปพลิเคชันในช่วงที่มีการประเมินจริง ทั้งนี้ สมศ.ยังคาดหวังว่าระบบเทคโนโลยีที่นำมาใช้จะช่วยให้กระบวนการประเมินสามารถทำให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และไม่สร้างภาระให้แก่สถานศึกษาและผู้ประเมินภายนอก อีกทั้งแอปพลิเคชัน และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ สมศ.อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำ จะช่วยให้การประเมินสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว สถานศึกษาทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 60,000 แห่ง ได้รับการประเมินอย่างทั่วถึงตามเจตนารมณ์ของพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ม.49 ทั้งนี้การนำระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาใช้จะทำให้ สมศ.สามารถประเมินสถานศึกษาได้ในปริมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา” ดร.นันทา กล่าวสรุป
ด้านนางสาวพวงแก้ว สกุลทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์ปอลหนองคาย กล่าวว่า ทางโรงเรียนเห็นด้วยที่ทาง สมศ. มีการปรับรูปแบบ ปรับเกณฑ์ และระบบการประเมินโดยการลดความซ้ำซ้อน ลดจำนวนวันลงพื้นที่ ลดภาระงานของโรงเรียน เน้นการประเมินที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์ต่อโรงเรียน ดังนั้นสำหรับการประเมินรูปแบบใหม่ปี 2564 ทางโรงเรียนจึงมีการประชุม วางแผน ทุกสัปดาห์ และดำเนินงานตามแผน ตามขั้นตอนของระบบการประกันคุณภาพภายใน พร้อมทั้งปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน เพิ่มทักษะความชำนาญทางเทคโนโลยีให้ให้แก่ครู เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับเข้ารับการประเมินรูปแบบใหม่ด้วย สำหรับสถานศึกษาแห่งอื่น ที่จะเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก สถานศึกษาต้องสำรวจบริบทของตัวเองก่อนว่าอะไรคือจุดเด่น หรือจุดที่ควรพัฒนาเพิ่มเติมหลังจากนั้นให้กำหนดเป้าหมายการประกันคุณภาพภายในให้สอดคล้องกับสิ่งที่จะต้องปรับปรุง และพัฒนาให้ดีขึ้น เพราะหากสถานศึกษาทำประกันคุณภาพภายในได้ดี ก็จะส่งผลให้การประเมินภายนอกดีตามไปด้วย โดยที่สถานศึกษาไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติม เพราะการประเมินของ สมศ.รูปแบบใหม่ไม่ได้เพิ่มภาระให้แก่สถานศึกษาอีกต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-2216-3955 หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit