รมช.ธรรมนัส ลงพื้นที่ตรวจดูอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค – บริโภค เมืองบุรีรัมย์

18 Aug 2020

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมรับฟังการบรรยายการบริหารการจัดการน้ำต้นทุน และการจัดสรรน้ำด้านการเกษตรของอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ณ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ว่า อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด เป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญทั้ง 2 แห่งที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงจังหวัดบุรีรัมย์ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เป็นอ่างเก็บน้ำที่รับน้ำจากการผันน้ำผ่านคลองห้วยจระเข้มาก และน้ำหลากจากพื้นที่ข้างเคียง อ่างเก็บน้ำห้วยตลาดนั้น เป็นอ่างเก็บน้ำที่รับน้ำจากการผันน้ำผ่านคลองในพื้นที่ จากอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและจากพื้นที่ข้างเคียง ในปัจจุบันพื้นที่ทั้ง 2 อ่างเก็บน้ำนั้น มีสภาพตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ทั้งด้านการเกษตร และการประปาได้อย่างเพียงพอ

รมช.ธรรมนัส ลงพื้นที่ตรวจดูอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค – บริโภค เมืองบุรีรัมย์

“ในวันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดบุรีรัมย์โดยจะเน้นในส่วนของการแก้ปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค พื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญ เพื่อใช้ในการอุปโภค - บริโภคของประชาชนจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งปัญหาในส่วนนี้นั้น ได้มีการให้ต้นแบบในการแก้ปัญหา นั้นคือหนองเล็งทราย จังหวัดพะเยา แต่ทั้งนี้ในการแก้ปัญหาต่างๆ จะสำเร็จไปได้นั้น จะต้องได้รับความร่วมมือ และสร้างความเข้มแข็งจากทุกๆ ภาคส่วนด้วย” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

แนวทางการจัดหาปริมาณน้ำเพิ่มเติม ในส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ขอบเขตของงานโครงการ จะจัดการปริมาณงานดินขุดธรรมดาด้วยรถขุด 908,067 ลบ.ม. ขนย้ายดินระยะทางไม่เกิน 1 กม. พร้อมเกลี่ยกลบแต่ง 908,067 ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ขอบเขตของงานโครงการ จะจัดการงานดินขุดธรรมดาด้วยรถขุด 900,000 ลบ.ม. ขนย้ายดินระยะทางไม่เกิน 1 กม. พร้อมเกลี่ยกลบแต่ง 900,000 ลบ.ม. ประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากการกักเก็บน้ำ เพื่อใช้ในด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และเพื่อใช้ในด้านการประปา พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1,000 ไร่ ครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 35,000 ครัวเรือน

ทั้งนี้ แผนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภคจังหวัดบุรีรัมย์ให้ยั่งยืนนั้น จะมีการวางแผนพัฒนาเพิ่มความจุหน้าฝายบ้านยาง โดยโครงการก่อสร้างขนาดกลาง และวางแผนซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำโดยสำนักเครื่องจักรกล มีการก่อสร้างโครงการผันน้ำอ่างห้วยสวาย มายังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด (กปภ.) ซึ่งแล้วเสร็จในวันที่ 18 มิ.ย. 2563 การก่อสร้างโครงการผันน้ำลำปะเทีย มายังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งจะแล้วเสร็จ ในวันที่ 30 ก.ย. 2563 และ โครงการผันน้ำลำชีน้อยมายังอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย ซึ่งเป็นแผนในปี 2563 – 2564