สสส.-สพฐ.-สพม.1-สสย. เปิดตัวคู่มือรู้เท่าทันสื่อ ดึง “ครู” ขับเคลื่อนสังคมไทย บรรจุเป็นหลักสูตรการศึกษาเพิ่มทักษะพลเมืองยุคดิจิทัล หวังปลูกฝังให้เด็กเท่าทันตนเอง รับผิดชอบต่อสังคม ใช้สื่อสร้างสรรค์สร้างสุขภาวะ
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 (สพม.1) และสถาบันสื่อเด็กเยาวชน (สสย.) จัดงาน “เปิดตัวและเผยแพร่คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ” (Digital Citizenship Management Skills : DCMSs) ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สื่อเป็นหนึ่งในปัจจัยกำหนดสุขภาพที่มีอิทธิพลต่อสุขภาวะของคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะยุคสื่อดิจิทัลที่ประชาชนส่วนใหญ่มีบทบาทเป็นทั้งผู้สร้างและผู้รับสื่อ เกิดความเสี่ยงและโอกาสในการสร้างเสริมสุขภาวะ สสส. จึงเน้นเสริมพลังประชาชนสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ตื่นรู้ มีทักษะเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือดูแลตนเองและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีสุขภาวะที่ดี พร้อมสนับสนุนการจัดการความรู้และงานวิชาการและทักษะเท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล (MIDL) เกิดเป็น “คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ” เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา
ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy) หรือ MIDL เป็นทักษะสำคัญของพลเมืองในยุคดิจิทัล แผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยระบุไว้ว่า ให้มีการสัมมนาเรื่อง “การรู้เท่าทันสื่อ” อย่างต่อเนื่องในโรงเรียน และบรรจุสาระเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อให้อยู่ในหลักสูตรการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จึงเกิดคู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ คู่มือฯ มีลักษณะพิเศษคือ “บทเรียนที่เขียนโดยครู เพื่อเพื่อนครู” ในเล่มมีเนื้อหาการเตรียมพลเมืองยุคใหม่ การจัดการเรียนรู้ตามแผนปฏิรูปยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ และสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ของครู
นายณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ สพม.1 กล่าวว่า เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตอยู่กับโลกแห่งความจริงพร้อมกับมีชีวิตอยู่บนโลกเสมือนผ่านสื่อโซเชียล ทักษะ MIDL จึงสำคัญ ครูในฐานะผู้สร้างพลเมืองจึงต้องสร้างให้เด็กและเยาวชนเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วมกับการพัฒนา และสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองที่สามารถใช้ชีวิตทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนอย่างรู้เท่าทัน คิดวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการ สสย. กล่าวว่า เด็กเยาวชนต้องการเรียนรู้ทักษะชีวิตใหม่ ๆ ที่ทำให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การเรียนรู้ความเป็นพลเมือง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่ง MIDL ควรเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียน การพัฒนาคู่มือฯ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ครูสามารถนำไปปรับใช้กับวิชาเรียนต่าง ๆ ในระดับมัธยมปลายได้ ช่วยจุดประกายให้ฝ่ายต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเรื่องนี้สำหรับเด็กในทุกช่วงวัยทุกระดับการศึกษา เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัล ขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรู้ ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit