นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อมูลของคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้พิจารณาวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ศักยภาพน้ำ ความเหมาะสมของพื้นที่ พันธุ์ข้าว แนวโน้มการตลาด และโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ที่จะดำเนินการในช่วงฤดูแล้งได้กำหนดแผนนโยบายการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 โดยมีแผนการเพาะปลูกทั้งประเทศ จำนวน 5.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 2.61 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 1.12 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.49 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 2.51 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.97 ล้านไร่) สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จำนวน 1.04 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.48 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน - ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.48 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.56 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.06 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.50 ล้านไร่) และลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด จำนวน 0.30 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.02 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน - ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.02 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.28 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.21 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.07 ล้านไร่)
สำหรับการจัดสรรน้ำด้านการเกษตร พบว่า เนื่องจากบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย จึงไม่สามารถจัดสรรน้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 บางพื้นที่ได้ ดังนั้น จึงสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (หลังนา) ปี 2564 เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขานรับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้เตรียมแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร 12 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 พร้อมมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอเร่งดำเนินการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในทุกด้าน ขับเคลื่อนมาตรการและลงพื้นที่ให้คำแนะนำการดูแลพืชอย่างถูกวิธี ดังนี้
- การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ "เกษตรร่วมใจรับมือภัยแล้ง ปี 2564" ดำเนินการช่วงเดือน พ.ย. 2563 - พ.ค. 2564 ใน 77 จังหวัด เป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในทุกด้านเพื่อรับมือภัยแล้ง ได้แก่ วิธีการปรับตัว การดูแลรักษาพืชในฤดูแล้ง เฝ้าระวังโรค แมลงศัตรูพืช นำเสนอกรณีตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับภัยแล้ง เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ ให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและการบริการของรัฐ
- การเฝ้าระวังน้ำเค็มรุกพื้นที่พืชสวน 9 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ราชบุรี และฉะเชิงเทรา ดำเนินการช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค. 2564 โดยสำรวจพื้นที่เสี่ยง แจ้งเตือนข่าวสาร สถานการณ์แล้ง การขาดแคลนน้ำ เยี่ยมเยียน ติดตามให้คำแนะนำทางวิชาการในการดูแลรักษาสวน การให้น้ำ ลดการใช้ปุ๋ย เพื่อป้องกันความเค็มสร้างความเสียหายแก่พืช แนะนำให้เกษตรกรรักษาความชื้นในแปลง เช่น ลอกดินเลนในร่องสวนมาปิดบนแปลงหรือโคนต้น การใช้วัสดุคลุมดินช่วยให้ประหยัดน้ำ และการตัดแต่งกิ่ง เป็นต้น
- คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ดำเนินการช่วงเดือน พ.ย. 2563 - เม.ย. 2564 ใน 77 จังหวัด โดยบูรณาการหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปให้บริการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ณ จุดที่มีปัญหาและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ประเด็นการรับมือกับสถานการณ์แล้ง แจ้งสถานการณ์ และวิธีการปรับตัว ข้อมูลการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ
- โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตร เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ดำเนินการใน 77 จังหวัด โดยการอบรมให้ความรู้ และศึกษาดูงานการปลูกพืชทางเลือกใหม่ รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชชนิดใหม่ที่เหมาะสม
- โครงการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป้าหมาย 2,000 ราย/แปลงเรียนรู้ จำนวน 444 ไร่ ใน37 จังหวัด ๆ ละ 12 ไร่ โดยจัดอบรมให้ความรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาแก่เกษตรกรในพื้นที่เหมาะสมมากหรือปานกลาง รวมทั้งจัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา
- โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายในฤดูนาปรัง เป้าหมายเกษตรกร 5,000 ราย/5,000 ไร่ ใน 23 จังหวัด โดยสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่ม เพื่อให้มีพื้นที่ในการจัดทำแปลงเรียนรู้ และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพืชหลากหลายตามความต้องการของตลาด มีการทำแผนการผลิต แผนการตลาด
- โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา เป้าหมายเกษตรกร 2,500 ราย/50 จุด พื้นที่ 200 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการให้น้ำแก่พืชที่ถูกต้อง โดยถ่ายทอดความรู้การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าสำหรับเกษตรกร การจัดทำแปลงเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา เพื่อเป็นตัวอย่างและจุดเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร
- โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป้าหมาย 77 จังหวัด 882 อำเภอ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน สำหรับแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรประสบในแต่ละช่วงเวลา นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ ในการดูแลรักษาผลิตผลทางการเกษตร
- โครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนและการบริการสมาชิกและเกษตรกร กิจกรรมสนับสนุนปัจจัยการควบคุมศัตรูพืช ดำเนินการใน 77 จังหวัด ผลิตหัวเชื้อ (ไตรโครเดอร์มา/บิวเวอร์เรีย) เพื่อนำไปผลิตจุลินทรีย์ และผลิตจุลินทรีย์/ศัตรูธรรมชาติพร้อมใช้ เช่น ไตรโคเดอร์มา บิวเวอร์เรีย แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต
- โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการอารักขาพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ดำเนินการใน 77 จังหวัด ผลิตจุลินทรีย์/ศัตรูธรรมชาติพร้อมใช้ เช่น ไตรโคเดอร์มา บิวเวอร์เรีย แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต, ผลิตไวรัสเอ็นพีวี เพื่อกำจัดหนอนกระทู้หอมในพืชผัก, ผลิตแตนเบียนแมลงดำหนาม, ผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต มวนพิฆาต แตนเบียนบราคอน, สารสกัดธรรมชาติ เช่น สะเดา และศัตรูธรรมชาติ (แตนเบียนอะนาไกรัส แมลงช้างปีกใส) เพื่อควบคุมศัตรูมันสำปะหลัง
- โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร ปี 2563/64 เป้าหมาย 77 จังหวัด โดยดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเขียวเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
- โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เป้าหมาย 77 จังหวัด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร และสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงมากขึ้นจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพมาตรฐาน
ด้านนางปาลลิน พวงมี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมประสานและช่วยเหลือเกษตรกรในการจัดหาช่องทางการตลาดให้กับผลผลิตพืชฤดูแล้ง สร้างการรับรู้เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้โดยเฉพาะข้าวรอบที่ 2 ควบคุมพื้นที่ปลูกไม่ให้เกินจำนวนที่กำหนด และพืชไร่พืชผักส่งเสริมให้มีพื้นที่ปลูกตามจำนวนที่กำหนด รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติดูแลรักษาพืชในช่วงฤดูแล้ง การรักษาความชื้น และลดการเผาตอซัง ฟางข้าว เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นหมอกควันด้วย หากเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลหรือแจ้งขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน
HTML::image(